วันศุกร์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

วันภาษาไทยแห่งชาติ


ความเป็นมาของวันภาษาไทยแห่งชาติ

          สืบเนื่องจากคณะกรรมการรณรงค์เพื่อภาษาไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ตระหนักในคุณค่าและความสำคัญของภาษาไทย และมีความห่วงใยในปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นต่อภาษาไทย รวมถึงเพื่อกระตุ้นและปลุกจิตสำนึกให้คนไทยทั้งชาติได้ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของภาษาไทย ตลอดจนร่วมมือกันทำนุบำรุง ส่งเสริม และอนุรักษ์ภาษาไทยให้คงอยู่คู่ชาติไทยตลอดไป จึงได้เสนอขอให้รัฐบาลประกาศให้วันที่ 29 กรกฎาคมของทุกปี เป็น วันภาษาไทยแห่งชาติ เช่นเดียวกับวันสำคัญอื่นๆ ที่รัฐบาลได้จัดให้มีมาก่อนแล้ว เช่น วันวิทยาศาสตร์,วันสื่อสารแห่งชาติ เป็นต้น และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันอังคารที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2542 เห็นชอบให้วันที่ 29 กรกฎาคมของทุกปี เป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ 

เหตุผลที่เลือกวันที่ 29 กรกฎาคม เป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ

          สำหรับเหตุผลที่เลือกวันที่ 29 กรกฎาคม เป็น วันภาษาไทยแห่งชาติ นั้นเพราะวันดังกล่าว ตรงกับวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินไปเป็นประธาน และทรงร่วมอภิปรายในการประชุมทางวิชาการของชุมนุมภาษาไทย ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ ห้องประชุมคณะอักษรศาสตร์ เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2505 ทรงเปิดอภิปรายในหัวข้อ "ปัญหาการใช้คำไทย" โดยพระองค์ทรงดำเนินการอภิปรายและทรงสรุปการอภิปราย ที่แสดงถึงพระปรีชาสามารถและความสนพระราชหฤทัยรวมถึงความห่วงใยในภาษาไทย ซึ่งเป็นที่ประทับใจกับผู้ร่วมเข้าประชุมในครั้งนั้นเป็นอย่างยิ่ง

          สำหรับพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในครั้งนั้น มีใจความตอนหนึ่งว่า "เรามีโชคดีที่มีภาษาของตนเองแต่โบราณกาล จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะรักษาไว้ ปัญหาเฉพาะในด้านรักษาภาษาก็มีหลายประการ อย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในทางออกเสียง คือให้ออกเสียงให้ถูกต้องชัดเจน อีกอย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในวิธีใช้ หมายความว่าวิธีใช้คำมาประกอบประโยค นับเป็นปัญหาที่สำคัญ ปัญหาที่สามคือความร่ำรวยในคำของภาษาไทย ซึ่งพวกเรานึกว่าไม่ร่ำรวยพอ จึงต้องมีการบัญญัติศัพท์ใหม่มาใช้... สำหรับคำใหม่ที่ตั้งขึ้นมีความจำเป็นในทางวิชาการไม่น้อย แต่บางคำที่ง่ายๆ ก็ควรจะมี ควรจะใช้คำเก่าๆ ที่เรามีอยู่แล้ว ไม่ควรจะมาตั้งศัพท์ใหม่ให้ยุ่งยาก..."

          นับเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวในประวัติศาสตร์ของวงการภาษาไทย ที่ได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณดังกล่าว ซึ่งในโอกาสต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังได้ทรงแสดงความสนพระราชหฤทัยและความห่วงใยในภาษาไทยอีกหลายโอกาส อย่างในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2512 ที่ได้ทรงมีพระบรมราโชวาทตอนหนึ่งว่า "ในปัจจุบันนี้ปรากฏว่า ได้มีการใช้คำออกจะฟุ่มเฟือย และไม่ตรงกับความหมายอันแท้จริงอยู่เนืองๆ ทั้งออกเสียงก็ไม่ถูกต้องตามอักขรวิธี ถ้าปล่อยให้เป็นไปดังนี้ ภาษาของเราก็มีแต่จะทรุดโทรม ชาติไทยเรามีภาษาของเราใช้เองเป็นสิ่งอันประเสริฐอยู่แล้ว เป็นมรดกอันมีค่าตกทอดมาถึงเราทุกคนจึงมีหน้าที่จะต้องรักษาไว้ ฉะนั้นจึงขอให้บรรดานิสิตและบัณฑิต ตลอดจนครูบาอาจารย์ได้ช่วยกันรักษาและส่งเสริมภาษาไทย ซึ่งเป็นอุปกรณ์และหลักประกันเพื่อความเจริญวัฒนาของประเทศชาติ"

          นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยังมีพระปรีชาญาณและพระอัจฉริยะภาพในการใช้ภาษาไทย ทรงรอบรู้ปราดเปรื่องถึงรากศัพท์ของคำไทย คือ ภาษาบาลีและสันสกฤต ทรงพระอุตสาหะวิริยะแปลและเรียบเรียงวรรณกรรมภาษาต่างประเทศเป็นภาษาไทยที่สมบูรณ์ด้วยลักษณะวรรณศิลป์ มีเนื้อหาสาระที่มีคุณค่า เป็นคติในการเสียสละเพื่อส่วนรวม และเป็นแบบอย่างแก่ประชาชนในการใช้ภาษาไทย ดังจะเห็นได้จากพระราชนิพนธ์แปลเรื่องนายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ ติโต พระราชนิพนธ์แปลบทความเรื่องสั้นๆ หลายบท และพระราชนิพนธ์เรื่อง พระมหาชนก เป็นต้น



วัตถุประสงค์ในการจัดวันภาษาไทยแห่งชาติ มีดังต่อไปนี้

           1. เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ผู้ทรงเป็นนักปราชญ์และนักภาษาไทย รวมทั้งเพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่ได้ทรงแสดงความห่วงใย และพระราชทานแนวคิดต่างๆ เกี่ยวกับการใช้ภาษาไทย

           2. เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในมหามงคลสมัยเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ ในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2542

           3. เพื่อกระตุ้นและปลุกจิตสำนึกของคนไทยทั้งชาติ ให้ตระหนักถึงความสำคัญและคุณค่าของภาษาไทย ตลอดจนร่วมมือร่วมใจกันทำนุบำรุงส่งเสริม และอนุรักษ์ภาษาไทย ซึ่งเป็นเอกลักษณ์และเป็นสมบัติวัฒนธรรมอันล้ำค่าของชาติ ให้คงอยู่คู่ชาติไทยตลอดไป

           4. เพื่อเพิ่มพูนประสิทธิภาพในการใช้ภาษาไทย ทั้งในวงวิชาการและวิชาชีพ รวมทั้งเพื่อยกมาตรฐานการเรียนการสอนภาษาไทยในสถานศึกษาทุกระดับ ให้มีสัมฤทธิผลยิ่งขึ้น

           5. เพื่อเปิดโอกาสให้หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐฯ และเอกชนทั่วประเทศ มีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมที่หลากหลาย เพื่อเผยแพร่ความรู้ภาษาไทยในรูปแบบต่างๆ ไปสู่สาธารณชน ทั้งในฐานะที่เป็นภาษาประจำชาติ และในฐานะที่เป็นภาษาเพื่อการสื่อสารของทุกคนในชาติ

ประโยชน์ที่คาดว่าได้รับจากการมีวันภาษาไทยแห่งชาติ

           1. วันภาษาไทยแห่งชาติ จะทำให้หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐฯ และเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานในกระทรวงศึกษาธิการ และทบวงมหาวิทยาลัย ตระหนักในความสำคัญของภาษาไทย และร่วมกันจัดกิจกรรมเพื่อกระตุ้นเตือน เผยแพร่ และเน้นย้ำให้ประชาชนเห็นความสำคัญของ "ภาษาประจำชาติ" ของคนไทยทุกคน และร่วมมือกันอนุรักษ์การใช้ภาษาไทยให้มีความถูกต้องงดงามอยู่เสมอ

           2. บุคคลในวงวิชาชีพต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ภาษาไทย โดยเฉพาะในวงการศึกษา และวงการสื่อสาร ช่วยกันกวดขันดูแลให้การใช้ภาษาไทยเป็นไปอย่างถูกต้องเหมาะสม มิให้ผันแปรเปลี่ยนแปลง จนเกิดความเสียหายแก่คุณลักษณะของภาษาไทยอันเป็นเอกลักษณ์ของชาติ

           3. ผลสืบเนื่องในระยะยาว คาดว่าปวงชนชาวไทยทั่วประเทศจะตื่นตัวและสนใจที่จะร่วมกันฟื้นฟู ทำนุบำรุง ส่งเสริมและอนุรักษ์ภาษาไทย อันเป็นเอกลักษณ์และสมบัติวัฒนธรรมที่สำคัญของชาติให้ดำรงคงอยู่คู่ชาติไทยตลอดไป

กิจกรรมในวันภาษาไทยแห่งชาติ

          กิจกรรมในวันนี้ ก็จะมีทั้งของสถาบันการศึกษา,หน่วยงานภาครัฐฯ และเอกชน ที่จะมีการจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น การจัดนิทรรศการ,การอภิปรายทางวิชาการ,การประกวดแต่งคำประพันธ์ ร้อยแก้ว ร้อยกรอง การขับเสภา การเล่านิทาน เป็นต้น

          ภาษาไทยถือเป็นภาษาแห่งชาติ และเป็นเอกลักษณ์ของชาติที่เราคนไทยควรภาคภูมิใจ เพราะบางประเทศไม่มีแม้กระทั่งภาษาที่เป็นของตัวเอง ดังนั้นเราควรอนุรักษ์ภาษาไทยให้คงอยู่ และสืบทอดต่อไปให้ลูกหลานได้ศึกษา หากเราคนไทยไม่ช่วยกันรักษาไว้ สักวันหนึ่งอาจจะไม่มีภาษาไทยให้ลูกหลานใช้ก็เป็นได้ 




วันอาทิตย์ที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ปุ๋ยหมักชีวภาพ

ปุ๋ยหมักชีวภาพ

  



ปุ๋ยหมักชีวภาพคือ ปุ๋ยอินทรีย์ที่ผ่านกระบวนการหมักกับน้ำเอนไซม์ ช่วยในการปรับปรุงดิน ย่อยสลายอินทรียวัตถุในดินให้เป็นอาหารแก่พืช
วัสดุทำปุ๋ยหมักชีวภาพ
น้ำเอนไซม์ 1 + น้ำตาล 1 + น้ำ 100
รดบนกองปุ๋ยแต่ละชั้นความชื้น 30%
แกลบสด 1 กิโลกรัม
แกลบดำ 1 กิโลกรัม
มูลสัตว์ต่าง ๆ กากถั่วต่าง ๆ ขี้เลื่อย ขุยมะพร้าว 3 กิโลกรัม
รำละเอียด 1 กิโลกรัม
ขยะสดต่าง ๆ 1 กิโลกรัม
อินทรียวัตถุที่หาได้ในพื้นที่ หญ้าแห้ง ฟาง ใบไม้ 1 กิโลกรัม

         วิธีทำ


1. ผสมน้ำเอนไซม์ น้ำตาล และน้ำ ในถังพลาสติก แล้วใช้บัวรดน้ำตักรดทีละชั้น
 
2. เกลี่ยกองปุ๋ยหมักบนพื้นให้หนาประมาณ 1 ศอก คลุมด้วยกระสอบป่านหรือกระสอบปุ๋ย หรือคลุมด้วยแกลบสด หรือฟาง เพื่อไม่ให้ถูกแสงแดดประมาณ 5 วัน ตรวจดูความร้อนในวันที่ 2 หรือ 3 ไม่ต้องกลับกองปุ๋ย ถ้าปุ๋ยกองใหญ่มากใช้เวลา 20 วัน
 
3. บรรจุปุ๋ยหมักชีวภาพที่คลุกเคล้ากันดีแล้ว ในกระสอบปุ๋ย สามารถเก็บไว้นานเป็นปี
ปุ๋ยหมักชีวภาพที่ได้จะประกอบด้วยจุลินทรีย์ สารอินทรีย์ต่าง ๆ ที่มีสารอาหารเหมาะสำหรับพืชนำไปใช้ทันที ปุ๋ยหมักชีวภาพที่ดีจะมีกลิ่นหอม มีใยสีขาวของเชื้อรา ในระหว่างการหมักถ้าไม่เกิดความร้อนแสดงว่ามีข้อผิดพลาด อุณหภูมิในการหมักที่เหมาะสมอยู่ระหว่าง 40-50 องศาเซลเซียส ถ้าให้ความชื้นสูงเกินไป จะเกิดความร้อนนานเกินไป ฉะนั้นความชื้นที่ให้พอดีประมาณ 30%
วิธีใช้
1. ผสมปุ๋ยหมักชีวภาพกับดินในแปลงปลูกผักทุกชนิดในอัตรา 1 กิโลกรัมต่อ 1 ตารางเมตร
 
2. พืชผักอายุเกิน 2 เดือน เช่น กะหล่ำปลี ถั่วฝักยาว แตง ฟักทอง ควรใช้ปุ๋ยหมักชีวภาพคลุกกับดินรองก้นหลุมก่อนปลูกกล้าผักประมาณ 2 กำมือ รดน้ำให้ชุ่ม ๆ
 
3. ไม้ผลควรรองก้นหลุมด้วยเศษหญ้า ใบไม้แห้ง ฟาง และปุ๋ยหมักชีวภาพ 1 กิโลกรัม สำหรับไม้ผลที่ปลูกแล้วใส่ปุ๋ยหมักชีวภาพ แนวทรงพุ่ม 2 กำมือต่อ 1 ตารางเมตร แล้วคลุมด้วยหญ้าแห้ง ใบไม้แห้ง ฟาง แล้วรดน้ำให้ชุ่ม
 
4. ไม้ดอกไม้ประดับ ไม้กระถาง ควรใส่ปุ๋ยหมักชีวภาพ เดือนละ 1 ครั้งต่อ 1 กำมือ ใช้ 1 กิโลกรัม ต่อ 2x3 ตารางเมตร
 
ปุ๋ยหมักชีวภาพใช้เวลาสลายสารอาหารสำหรับพืชเร็วกว่าปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก เมื่อใส่ลงดินที่มีความชื้นพอเหมาะ เชื้อจุลินทรีย์ที่ได้ปุ๋ยหมักชีวภาพจะทำหน้าที่ย่อยสลายอินทรียวัตถุในดินให้เป็นประโยชน์ต่อต้นไม้
จึงไม่จำเป็นต้องให้ในปริมาณมาก ๆ และในดินควรมีอินทรีย์วัตถุพวกปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก หญ้าแห้ง ใบไม้แห้ง ฟาง และมีความชื้นเพียงพอ ต้นพืชจึงจะได้ประโยชน์เต็มที่จากการใส่ปุ๋ยหมักชีวภาพ
แต่ถ้าใส่ครั้งละมากเกินไปอาจทำให้ต้นไม้ตายได้ ส่วนจะให้ครั้งละปริมาณเท่าไร บ่อยครั้งเท่าไร เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดนั้น กรุณาประมาณและสังเกตความเหมาะสมด้วย

ปุ๋ยดินหมักชีวภาพสำหรับเพาะต้นกล้า
วัสดุที่ใช้
 
1. ดินแห้งทุบให้ละเอียด ใช้ดินได้ทุกชนิด 5 ส่วน
2. ปุ๋ยคอกแห้งทุบละเอียด 2 ส่วน
3. แกลบดำ 2 ส่วน
4. รำละเอียด 2 ส่วน
5. ขุยมะพร้าวหรือขี้เค้กอ้อย 2 ส่วน
6. น้ำเอนไซม์ 1 + น้ำตาล 1 + น้ำ 100 คนให้เข้ากัน
วิธีทำ
1. ผสมวัสดุทั้งหมด คลุกเคล้าจนเข้ากันดี
 
2. รดด้วยน้ำเอนไซม์ที่ผสมแล้ว บนกองวัสดุให้ความชื้นพอประมาณ กำแล้วใช้นิ้วดีดแตก ไม่ให้แฉะเกินไป
3. เกลี่ยบนพื้นซีเมนต์ให้กองหนาประมาณ 1 ศอก คลุมด้วยพลาสติก หรือกระสอบป่าน หมักไว้ 5 วัน จึงนำไปใช้ได้
 
4. ปุ๋ยดินหมักชีวภาพที่ดีจะมีราสีขาวเกิขึ้น มีกลิ่นหอม สามารถเก็บไว้ใช้ได้นาน ๆ
วิธีใช้
1. ผสมปุ๋ยดินหมักชีวภาพกับดินแห้งทุบละเอียดและแกลบดำอย่างละเท่า ๆ กัน คลุกจนเข้ากันดี เพื่อนำไปกรอกถุง หรือถาดเพาะกล้า หรือนำไปใส่ในแปลงสำหรับเพาะกล้า จะช่วยให้ได้ต้นกล้าที่เจริญเติบโตสมบูรณ์แข็งแรง
 
2. นำไปเติมในกระถางต้นไม้ดอกไม้ประดับได้ดี กระถางละ 2 กำมือ 


http://www.ku.ac.th/e-magazine/march47/agri/puy.html


น้ำหมักจากเปลือกสับปะรด

น้ำหมักจากเปลือกสับปะรด

การทำน้ำหมักชีวภาพจากเปลือกสับปะรด

น้ำหมักชีวภาพจากเปลือกสับปะรด
ส่วนผสม 1. เปลือกสับปะรด 5 กิโลกรัม
2. น้ำตาลทรายแดง 1 กิโลกรัม
3. น้ำสะอาด 10 ลิตร

วิธีทำ นำเปลือกสับปะรดหั่นหรือสับเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วใส่
น้ำตาลทรายแดงคลุกเคล้าให้ทั่ว เติมน้ำลงไปให้ท่วม ใส่ถัง
ปิดฝาให้สนิท ตั้งไว้ในที่ร่มอย่าให้ถูกแดด นาน 7 - 10 วัน
จึงนำมาใช้ได้
(กรณีใช้น้ำประปาต้องรองทิ้งไว้สัก 2 วัน เพื่อให้คลอรีน
ระเหยเสียก่อน) 
 
  ขั้นตอนการทำ


1. นำเปลือกผลไม้มาหันเป็นชิ้นเล็กๆ

2. ผสมน้ำตาลทรายแดงและหัวเชื้อจุลินทรีย์เข้าด้วยกัน



3.นำส่วนผสมทั้งหมดใส่ถังแล้วปิดฝาให้สนิท วางไว้ในที่ร่ม
ประโยชน์ของน้ำหมักชีวภาพจากเปลือกสับปะรด

1. น้ำหมักชีวภาพผสมกับน้ำสะอาดในอัตราส่วน 1 : 50 เทลงในท่อระบายน้ำ ช่วยดับกลิ่นเหม็นได้

2. น้ำหมักชีวภาพผสมน้ำสะอาดในอัตราส่วน 1 : 50 ใช้ล้างภาชนะที่มีคราบไขมัน ช่วยให้ ล้างง่ายขึ้น และลดปริมาณการใช้น้ำยาทำความสะอาด

3. น้ำหมักชีวภาพใช้เทลงในโถส้วม ท่อระบายน้ำ ผสมน้ำในอัตราส่วน 1 : 50 ใช้ล้างทำความสะอาดพื้นห้องสุขา ลดกลิ่นเหม็นและฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ที่เป็นอันตรายได้
4. น้ำหมักชีวภาพใช้เทลงในท่อระบายน้ำทิ้งจากโรงอาหารช่วยขจัดคราบไขมันอุดตันตามท่อน้ำทิ้ง ช่วยย่อยสลายเศษอาหารที่ตกค้าง ลดการบูดเน่าและกลิ่นเหม็นได้ ปรับสภาพน้ำทิ้งให้ดีขึ้น ก่อนปล่อยลงท่อน้ำทิ้งของเทศบาล

5. น้ำหมักชีวภาพผสมน้ำสะอาดในอัตราส่วน 1 : 50 ให้ฉีดพ่นบริเวณที่มีกลิ่นอับชื้น ช่วยลดกลิ่นเหม็นอับ และทำให้อากาศสดชื่นหรือใช้ถูพื้นอาคารที่เป็นกระเบื้อง หินขัด ทำให้พื้นสะอาดเป็นเงางาม

6. น้ำหมักชีวภาพเทลงในถังเกรอะ หรือโถส้วม ช่วยลดปัญหาส้วมเต็มกลิ่นเหม็นอืดได้

7. กากที่เหลือจากการหมักนำไปทำปุ๋ยหมักชีวภาพได้ โดยนำไปผสมกับเศษกิ่งไม้ ใบไม้

เศษหญ้า ปุ๋ยคอก แล้วราดด้วยน้ำหมักชีวภาพ คลุกเคล้าให้เข้ากัน คลุมด้วยผ้าพลาสติกทิ้งไว้
ประมาณ 3-4 สัปดาห์ ก็จะย่อยสลายเปื่อยยุ่ย นำไปใช้ได้ 

บูรณาการเรื่องข้าว

ข้าวไทย

 

ข้าว เป็นพืชล้มลุกตระกูลหญ้าที่สามารถกินเมล็ดได้ ถือเป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยวเช่นเดียวกับหญ้า ต้นข้าวมีลักษณะภายนอกบางอย่าง เช่น ใบ กาบใบ ลำต้น และรากคล้ายต้นหญ้า ในประเทศไทย ข้าวหอมมะลิมีสายพันธุ์ในประเทศและเป็นที่นิยมไปทั่วโลก

พันธุ์ของข้าว

ข้าวที่นิยมบริโภคมีอยู่ 2 สปีชีส์ใหญ่ๆ คือ
  • Oryza glaberrima ปลูกเฉพาะในเขตร้อนของแอฟริกาเท่านั้น
  • Oryza sativa ปลูกทั่วไปทุกประเทศ ข้าวชนิด Oryza sativa ยัง แยกออกได้เป็น
    • indica มีปลูกมากในเขตร้อน
    • japonica มีปลูกมากในเขตอบอุ่น
    • Javanica
ข้าวที่ปลูกในประเทศไทยเป็นพวก Indica ซึ่งแบ่งออกเป็นข้าวเจ้าและข้าวเหนียว นอกจากนี้ ข้าวยังได้ถูกมนุษย์คัดสรรและปรับปรุงพันธุ์มาโดยตลอดตั้งแต่มีประวัติศาสตร์การเพาะปลูก ข้าวในปัจจุบัน จึงมีหลายหลายพันธุ์ทั่วโลกที่ให้รสชาติและประโยชน์ใช้สอยต่างกันไป พันธุ์ข้าวที่มีชื่อเสียงระดับโลกของไทย คือ ข้าวหอมมะลิ 

ลักษณะทั่วไป 

  
ลักษณะที่สำคัญของข้าวแบ่งออกได้เป็นลักษณะที่เกี่ยวกับการเจริญเติบโต และลักษณะที่เกี่ยวกับการขยายพันธุ์ ดังนี้

 ลักษณะที่เกี่ยวกับการเจริญเติบโต

ลักษณะที่มีความสัมพันธุ์กับการเจริญเติบโตของต้นข้าว ได้แก่ ราก ลำต้น และใบ
  • ราก รากเป็นส่วนที่อยู่ใต้ผิวดิน ใช้ยึดลำต้นกับดินเพื่อไม่ให้ต้นล้ม แต่บางครั้งก็มีรากพิเศษเกิดขึ้นที่ข้อซึ่งอยู่เหนือพื้นดินด้วย ต้นข้าวไม่มีรากแก้ว แต่มีรากฝอยแตกแขนงกระจายแตกแขนงอยู่ใต้ผิวดิน
  • ลำต้น มีลักษณะเป็นโพรงตรงกลางและแบ่งออกเป็นปล้องๆ โดยมีข้อกั้นระหว่างปล้อง ความยาวของปล้องนั้นแตกต่างกัน จำนวนปล้องจะเท่ากับจำนวนใบของต้นข้าว ปกติมีประมาณ 20-25 ปล้อง
  • ใบ ต้นข้าวมีใบไว้สำหรับสังเคราะห์แสง เพื่อเปลี่ยนแร่ธาตุ อาหาร น้ำ และคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นแป้ง เพื่อใช้ในการเจริญเติบโตและ สร้างเมล็ดของต้นข้าว ใบประกอบด้วย กาบใบและแผ่นใบ

 ลักษณะที่เกี่ยวกับการขยายพันธุ์

ต้นข้าวขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดซึ่งเกิดจากการผสมระหว่างเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมีย ลักษณะที่สำคัญเกี่ยวกับการ ขยายพันธุ์ ได้แก่ รวง ดอกข้าวและเมล็ดข้าว
  • รวง รวงข้าว (panicle) หมายถึง ช่อดอกของข้าว (inflorescence) ซึ่งเกิดขึ้นที่ข้อของปล้องอันสุดท้ายของต้นข้าว ระยะระหว่างข้ออันบนของปล้องอันสุดท้ายกับข้อต่อของใบธง เรียกว่า คอรวง
  • ดอกข้าว หมายถึง ส่วนที่เกสรตัวผู้และเกสรตัวเมียสำหรับผสมพันธุ์ ดอกข้าวประกอบด้วยเปลือกนอกใหญ่สองแผ่นประสานกัน เพื่อห่อ หุ้มส่วนที่อยู่ภายในไว้ เปลือกนอกใหญ่แผ่นนอก เรียกว่า เลมมา (lemma) ส่วนเปลือกนอกใหญ่แผ่นใน เรียกว่า พาเลีย (palea) ทั้งสองเปลือกนี้ ภายนอกของมันอาจมีขนหรือไม่มีขนก็ได้
  • เมล็ดข้าว หมายถึง ส่วนที่เป็นแป้งที่เรียกว่า เอ็นโดสเปิร์ม (endosperm) และส่วนที่เป็นคัพภะ ซึ่งห่อหุ้มไว้โดยเปลือกนอกใหญ่สองแผ่น เอ็นโดสเปิร์มเป็นแป้งที่เราบริโภค คัพภะเป็นส่วนที่มีชีวิตและงอกออกมาเป็นต้นข้าวเมื่อเอาไปเพา

 ประเภทของข้าว

แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ ข้าวเจ้า และ ข้าวเหนียว ซึ่งมีลักษณะเหมือนกันเกือบทุกอย่างแต่ต่างกันตรงที่เนื้อแข็งในเมล็ด
  • เมล็ดข้าวเจ้าประกอบด้วยแป้งอมิโลส (Amylose) ประมาณร้อยละ 15-30
  • เมล็ดข้าวเหนียวประกอบด้วยแป้งอมิโลเพคติน (Amylopectin) เป็นส่วนใหญ่และมีแป้งอมิโลส (Amylose) ประมาณร้อยละ 5-7
หากแบ่งตามนิเวศน์การปลูก จะแบ่งได้ 7 ประเภท คือ
  1. ข้าวนาสวน ข้าวที่ปลูกในนาที่มีน้ำขังหรือกักเก็บน้ำได้ระดับน้ำลึกไม่เกิน 50 เซนติเมตร ข้าวนาสวนมีปลูกทุกภาคของประเทศไทย แบ่งออกเป็น ข้าวนาสวนนาน้ำฝน และข้าวนาสวนนาชลประทาน
  2. ข้าวนาสวนนาน้ำฝน ข้าวที่ปลูกในฤดูนาปี และอาศัยน้ำฝนตามธรรมชาติ ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับ การกระจายตัวของฝน ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกข้าวนาน้ำฝนประมาณ 70% ของพื้นที่ปลูกข้าวทั้งหมด
  3. ข้าวนาสวนนาชลประทาน ข้าวที่ปลูกได้ตลอดทั้งปีในนาที่สามารถควบคุมระดับน้ำได้ โดยอาศัยน้ำจากการชลประทาน ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกข้าวนาชลประทาน 24% ของพื้นที่ปลูกข้าวทั้งหมด และพื้นที่ส่วนใหญ่จะอยู่ในภาคกลาง
  4. ข้าวขึ้นน้ำ ข้าวที่ปลูกในนาที่มีน้ำท่วมขังในระหว่างการเจริญเติบโตของข้าว มีระดับน้ำลึกตั้งแต่ 1-5 เมตร เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1 เดือน ลักษณะพิเศษของข้าวขึ้นน้ำคือ มีความสามารถในการยืดปล้อง (internode elongation ability) การแตกแขนงและรากที่ข้อเหนือผิวดิน (upper nodal tillering and rooting ability) และการชูรวง (kneeing ability)
  5. ข้าวน้ำลึก ข้าวที่ปลูกในพื้นที่น้ำลึก ระดับน้ำในนามากกว่า 50 เซนติเมตร แต่ไม่เกิน 100 เซนติเมตร
  6. ข้าวไร่ ข้าวที่ปลูกในที่ดอนหรือในสภาพไร่ บริเวณไหล่เขาหรือพื้นที่ซึ่งไม่มีน้ำขัง ไม่มีการทำคันนาเพื่อกักเก็บน้ำ
  7. ข้าวนาที่สูง ข้าวที่ปลูกในนาที่มีน้ำขังบนที่สูงตั้งแต่ 700 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลขึ้นไป พันธุ์ข้าวนาที่สูงต้องมีความสามารถทนทานอากาศหนาวเย็นได้ดี
  การค้าข้าว

โลกมีความต้องการข้าวความต้องการบริโภคของโลกประมาณ 417.7 ล้านตัน ประเทศไทยเป็นประเทศที่ส่งออกข้าวมากที่สุดในโลก ด้วยสัดส่วนการส่งออก ร้อยละ 36 รองลงมาคือ เวียดนาม ร้อยละ 20 อินเดีย ร้อยละ 18 สหรัฐอเมริกา ร้อยละ14 ปากีสถาน ร้อยละ 12 ตามลำดับ 

http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A7


สถิติลำดับประเทศที่ผลิดข้าวของ FAO [3]
 ลำดับ ประเทศ จำนวน
(in Tsd.
t)
 ลำดับ ประเทศ จำนวน
(in Tsd. t)
   1ธงของสาธารณรัฐประชาชนจีน จีน   181.900   11ธงของสหรัฐอเมริกา สหรัฐอเมริกา   10.126
   2ธงของสาธารณรัฐอินเดีย อินเดีย   130.513   12ธงของประเทศปากีสถาน ปากีสถาน   7.351
   3ธงของประเทศอินโดนีเซีย อินโดนีเซีย   53.985   13ธงของประเทศเกาหลีใต้ เกาหลีใต้   6.435
   4ธงของประเทศบังกลาเทศ บังกลาเทศ   40.054   14ธงของประเทศอียิปต์ อียิปต์   6.200
   5ธงของสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เวียดนาม   36.341   15ธงของประเทศกัมพูชา กัมพูชา   4.200
   6ธงชาติของไทย ไทย   27.000   16ธงของสหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยเนปาล เนปาล   4.100
   7ธงของสหภาพเมียนมาร์ พม่า   24.500   17ธงของประเทศไนจีเรีย ไนจีเรีย   3.542
   8ธงของประเทศฟิลิปปินส์ ฟิลิปปินส์   14.615   18ธงของประเทศอิหร่าน อิหร่าน   3.500
   9ธงของประเทศบราซิล บราซิล   13.141   19ธงของสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา ศรีลังกา   3.126
   10ธงของประเทศญี่ปุ่น ญี่ปุ่น   11.342   รวม618.440

ปุ๋ยพืชสด

ปุ๋ยพืชสด

 

การเพิ่มอินทรียวัตถุให้แก่ดิน ทำได้โดยการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ซึ่งมีหลายชนิดด้วยกันเช่น การใช้ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก เป็นต้น แต่มีข้อจำกัด คือ ต้องใช้ในปริมาณมากต่อไร่ ไม่สะดวกแก่การขนย้ายปุ๋ย และหาได้ไม่เพียงพอ ดังนั้นวิธีการเพิ่ม อินทรียวัตถุ ให้แก่ดินอีกวิธีหนึ่ง ที่มีวิธีการปฏิบัติง่ายก็คือ การใช้ปุ๋ยพืชสด
ปุ๋ยพืชสด คือ ปุ๋ยอินทรีย์ชนิดหนึ่ง ที่ได้จากการไถกลบ ต้น ใบ และส่วนต่างๆของพืช โดยเฉพาะพืชตระกูลถั่ว ในระยะช่วงออกดอก ซึ่งเป็นช่วงที่มีธาตุอาหารสูงสุด แล้วปล่อยทิ้งไว้ให้เน่าเปื่อยผุพัง ย่อยสลายเป็นอาหารแก่พืชที่จะปลูกตามมา พืชที่ใช้ปลูกเป็นปุ๋ยพืชสด ได้แก่ โสนอินเดีย ปอเทือง อัญชัน ไมยราพไร้หนาม พืชตระกูลถั่วต่างๆ เป็นต้น  

 
พืชที่ปลูกเป็นปุ๋ยพืชสด สิ่งที่เกษตรกรคุ้นเคยมากในการเพิ่มผลผลิตพืชก็คือ การใช้ปุ๋ยเคมี แต่การใช้ปุ๋ยเคมีเพียง อย่างเดียว โดยไม่มีการเพิ่มอินทรียวัตถุ ให้แก่ดิน จะทำให้ดินสูญเสียความอุดมสมบูรณ์ไปอย่างรวดเร็ว ดินจะแข็งไม่ร่วนซุย ดูดซับน้ำ และแร่ธาตุอาหารพืช ได้น้อยลงทำให้การปลูกพืชไม่ได้ผลหรือได้ผลไม่ดีเท่าที่ควร

  

ประโยชน์ของปุ๋ยพืชสด

  1. เพิ่มปริมาณอินทรียวัตถุในดิน
  2. เพิ่มธาตุไนโตรเจนซึ่งเป็นธาตุอาหารหลักให้แก่พืช
  3. กรดที่เกิดจากการผุพังของพืชสด ช่วยละลายธาตุอาหารในดินให้แก่พืชได้มากยิ่งขึ้น
  4. บำรุงและรักษาความอุดมสมบูรณ์ของดิน
  5. รักษาความชุ่มชื้นในดินและให้ดินอุ้มน้ำได้ดีขึ้น
  6. ทำให้ดินร่วนซุย สะดวกในการเตรียมดินและไถพรวน
  7. ช่วยในการปราบวัชพืชบางชนิดได้เป็นอย่างดี
  8. ลดปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีลงได้บางส่วน
  9. ลดอัตราการสูญเสียดินอันเกิดจากการชะล้าง
  10. เพิ่มผลผลิตของพืชให้สูงขึ้น

ลักษณะทั่วไปของพืชปุ๋ยสด

  1. ปลูกง่าย เจริญเติบโตเร็ว ระบบรากแข็งแรง ออกดอกในระยะเวลาอันสั้น คือประมาณ 30 – 60 วัน
  2. สามารถให้น้ำหนักพืชสดสูง ตั้งแต่ 2,000 กิโลกรัมต่อไร่ ขึ้นไป
  3. ทนแล้งและทนต่อสภาพแวดล้อมต่างๆได้ดี สามารถปลูกได้ทุกฤดูกาล
  4. มีความต้านทานต่อโรคและแมลง
  5. สามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ได้มาก และขยายพันธุ์ได้รวดเร็ว เพื่อให้ทันและเพียงพอต่อความต้องการ เมล็ดงอกง่ายและมีเปอร์เซนต์ความงอกสูง
  6. ทำการเก็บเกี่ยว ตัดสับและไถกลบได้ง่าย ไม่ควรเป็นเถาเลื้อยมากเพราะจะทำให้ไม่สะดวกแก่การไถกลบ
  7. ลำต้นอ่อน เมื่อไถกลบแล้วเน่าเปื่อยผุพังได้เร็วและมีธาตุอาหารพืชสูง

  

การปลูกพืชปุ๋ยสด

  1. ลักษณะของดิน ก่อนปลูกควรปรับปรุงสภาพของดินให้เหมาะสม เช่นถ้าเป็นดินเปรี้ยวควรใส่ปูนลงไปก่อน จะช่วยให้พืชสดเจริญเติบโตและให้น้ำหนักพืชสดสูงด้วย
  2. เวลาและฤดูกาลที่ปลูก เวลาที่เหมาะสมที่สุดคือ ปลูกช่วงต้นฤดูฝน หรือปลูกหลังจากเก็บเกี่ยวพืช ซึ่งความชื้นในดินยังคงมีอยู่ หรือปลูกก่อนการปลูกพืชหลัก ประมาณ 3 เดือน
  3. เมล็ดพันธุ์พืชปุ๋ยสด ที่ใช้ปลูกเพื่อไถกลบในพื้นที่ 1 ไร่ ควรใช้อัตราเมล็ดดังนี้ ปอเทือง 5 กก., โสนอินเดีย 5 กก., โสนคางคก 5 กก., โสนไต้หวัน 5 กก., ถั่วพร้า 5 กก., ถั่วเขียว 5 กก., ถั่วเหลือง 8 กก., ถั่วพุ่ม 8 กก., ถั่วนา 8 กก., ถั่วลาย 2 กก., ถั่วเสี้ยนป่า 2 กก., ไมยราพไร้หนาม 2 กก., ถั่วเว็ลเว็ท 10 กก., คาโลโปโกเนียม 2 กก., อัญชัน 3 กก.,


วิธีการใช้พืชปุ๋ยสด

วิธีการใช้พืชปุ๋ยสด สามารถแบ่งการใช้ได้ 3 วิธี คือ
  1. ปลูกพืชสด ในพื้นที่แปลงใหญ่ แล้วทำการตัดสับและไถกลบลงไปในพื้นที่นั้นเลย
  2. ปลูกพืชสดแซมในระหว่างร่องพืชหลักที่ทำการปลูก โดยปลูกพืชสดหลังจากพืชหลักเจริญเติบโตเต็มที่แล้ว
  3. ปลูกพืชสดในพื้นที่รกร้างว่างเปล่า แล้วตัดสับเอาส่วนของพืชสดนำมาใส่ในแปลงที่จะปลูกพืชหลักแล้วไถกลบลงไปในดิน

การตัดสับและไถกลบพืชสด

การตัดสับและการไถกลบพืชสดนั้น จำเป็นต้องพิจารณาถึงอายุของพืชสดเป็นสำคัญ ระยะเวลาที่เหมาะสม ในการตัดสับ และไถกลบ ควรทำขณะที่ต้นถั่ว เริ่มออกดอกไปจนถึงระยะดอกบานเต็มที่ เนื่องจากในระยะนี้ต้นถั่วเจริญงอกงามสูงสุด เมื่อไถกลบแล้วจะทำให้ปริมาณอินทรียวัตถุและธาตุไนโตรเจนสะสมอยู่ในดินสูงด้วย

  http://www.vegetweb.com/%E0%B8%9B%E0%B8%B8%E0%B9%8B%E0%B8%A2%E0%B8%9E%E0%B8%B7%E0%B8%8A%E0%B8%AA%E0%B8%94/

น้ำส้มควันไม้

น้ำส้มควันไม้  

 


น้ำส้มควันไม้ ควันที่เกิดจากการเผาถ่านในช่วงที่ไม้กำลังเปลี่ยนเป็นถ่านเมื่อทำให้เย็นลงจนควบแน่น
แล้วกลั่นตัวเป็นหยดน้ำ ของเหลวที่ได้นี้เรียกว่า น้ำส้มควันไม้ มีกลิ่นไหม้ ส่วนประกอบส่วนใหญ่เป็นกรดอะซิติก
มีความเป็นกรดต่ำ มีสีน้ำตาลแกมแดง นำน้ำส้มควันไม้ที่ได้ทิ้งไว้ในภาชนะพลาสติกประมาณ 3 เดือน
ในที่ร่ม ไม่สั่นสะเทือนเพื่อให้น้ำส้มควันไม้ที่ได้ตกตะกอนและแยกตัวเป็น 3 ชั้น คือ น้ำมันเบา (ลอยอยู่ผิวน้ำ)
น้ำส้มไม้ และน้ำมันทาร์ (ตกตะกอนอยู่ด้านล่าง) แยกน้ำส้มควันไม้มาใช้ประโยชน์ต่อไป


ประโยชน์และการนำน้ำส้มควันไม้ไปใช้ประโยชน์  
   
  น้ำส้มควันไม้มีสารประกอบต่างๆ มากมาย เมื่อนำไปใช้ประโยชน์ทางการเกษตรจะมีคุณสมบัติ เช่น เป็นสารปรับปรุงดิน สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช และสารเร่งการเติบโตของพืช นอกจากนี้ มีการนำน้ำส้มควันไม้
ไปใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรม เช่น ใช้ผลิตสารดับกลิ่นตัว ผลิตสารปรับผิวนุ่ม ใช้ผลิตยารักษาโรคผิวหนัง เป็นต้น

เนื่องจากน้ำส้มควันไม้มีความเป็นกรดสูง ดังนั้นก่อนที่จะนำไปใช้ควรจะนำมาเจือจางให้เกิดสภาวะที่เหมาะสม
กับวัตถุประสงค์ของการใช้งาน ดังนี้

    อัตราส่วน 1: 20 (ผสมน้ำ 20 เท่า) พ่นลงดินเพื่อฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ที่ไม่เป็นประโยชน์และแมลงในดิน
ซึ่งควรทำก่อนการเพาะปลูก 10 วัน
    อัตราส่วน 1: 50 (ผสมน้ำ 50 เท่า) พ่นลงดินเพื่อฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ที่ทำลายพืช หากใช้ความเข้มข้นที่มากกว่านี้
รากพืชอาจได้รับอันตรายได้
    อัตราส่วน 1: 100 (ผสมน้ำ 100 เท่า) ราดโคนต้นไม้รักษาโรครา และโรคเน่า รวมทั้งป้องกันแมลงมาวางไข่
    อัตราส่วน 1: 200 (ผสมน้ำ 200 เท่า) พ่นใบไม้รวมทั้งพื้นดินรอบๆ ต้นพืชทุกๆ 7-15 วัน เพื่อขับไล่แมลงและ
ป้องกันเชื้อรา และรดโคนต้นไม้เพื่อเร่งการเจริญเติบโต
    อัตราส่วน 1: 500 (ผสมน้ำ 500 เท่า) พ่นผลอ่อน หลังจากติดผลแล้ว 15 วัน ช่วยขยายผลให้โตขึ้นและพ่นอีกครั้ง
ก่อนเก็บเกี่ยว 20 วัน เพื่อเพิ่มน้ำตาลในผลไม้
    อัตราส่วน 1: 1,000 (ผสมน้ำ 1,000 เท่า) เป็นสารจับใบ เนื่องจากสารเคมีสามารถออกฤทธิ์ได้ดีในสารละลาย
ที่เป็นกรดอ่อนๆ ช่วยเสริมประสิทธิภาพของสารเคมีทำให้สามารถลดการใช้สารเคมีมากกว่าครึ่งด้วย

                                      

ลักษณะสีของน้ำส้มควันไม้ที่ผสมในอัตราส่วนต่างๆ

    การนำน้ำส้มควันไม้ ไปใช้ด้านอื่นๆ     นอกจากการนำไปใช้ทางด้านเกษตรและปศุสัตว์แล้ว ยังสามารถนำน้ำส้มควันไม้ไปใช้ด้านอื่นๆ ได้ อีก เช่น
1.ความเข้มข้น 100 เปอร์เซ็นต์ ใช้รักษาแผลสด แผลถูกน้ำร้อน รักษาโรคน้ำกัดเท้าและเชื้อราที่ผิวหนัง
2.น้ำส้มควันไม้ผสมน้ำ 20 เท่า ราดทำลายปลวดและมด
3.น้ำส้มควันไม้ผสมน้ำ 50 เท่า ใช้ป้องกันปลวก มด และสัตว์ต่างๆ เช่น ตะขาบ แมงป่อง
4.น้ำส้มควันไม้ผสมน้ำ 100 เท่า ใช้ฉีดพ่นถังขยะเพื่อป้องกันกลิ่นและแมลงวัน ใช้ดับกลิ่นในห้องน้ำ ห้องครัวและ
  บริเวณชื้นแฉะ

ข้อควรระวังในการ ใช้น้ำส้มควันไม้
1.ก่อนนำน้ำส้มควันไม้ไปใช้ต้องทิ้งไว้จากการกักเก็บก่อนอย่างน้อย 3 เดือน
2.เนื่องจากน้ำส้มควันไม้มีความเป็นกรดสูง ควรระวังอย่าให้เข้าตาอาจทำให้ตาบอดได้
3.น้ำส้มควันไม้ไม่ใช่ปุ๋ยแต่เป็นตัวเร่งปฎิกิริยา ดังนั้นการนำไปใช้ทางการเกษตรจะเป็นตัวเสริมประสิทธิภาพ
  ให้กับพืชแต่ไม่สามารถใช้แทนปุ๋ยได้
4.การใช้เพื่อฆ่าเชื้อจุลินทรีย์และแมลงในดิน ควรทำก่อนเพาะปลูกอย่างน้อย 10 วัน
5.การนำน้ำส้มควันไม้ไปใช้ต้องผสมน้ำให้เจือจางตามความเหมาะสมที่จะนำไปใช้
6.การฉีดพ่นน้ำส้มควันไม้ เพื่อให้ดอกติดผล ควรพ่นก่อนที่ดอกจะบาน หากฉีดพ่นหลังจากดอกบานแมลงจะไม่เข้า
  มาผสมเกสร เพราะกลิ่นฉุนของน้ำส้มควันไม้และดอกจะร่วงง่าย  




การนำไม้เข้าเตาเผาถ่าน
1.นำไม้ที่ต้องการเผาถ่าน มาจัดแยกกลุ่ม
  ตามขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของไม้เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
    -ขนาดเล็ก
    -ขนาดกลาง
    -ขนาดใหญ่
2.เรียงไม้ที่มีขนาดเล็กไว้ด้านล่างของเตา
  ขนาดใหญ่ไว้ด้านบน โดยวางทับไม้หมอนยาวประมาณ
  30-40เซนติเมตร การเรียงไม้นี้มีความสำคัญมาก
  เนื่องจากอุณหภูมิในเตา ขณะเผาถ่านไม่เท่ากัน
  โดยอุณหภูมิด้านล่างเตาจะต่ำ
  ส่วนอุณหภูมิที่อยู่ด้านบนเตาจะสูงกว่า

    ขั้นตอนการเผาถ่าน 

   
ช่วงที่ 1 ไล่ความชื้น หรือคายความร้อน
      เริ่มจุดไฟเตา บริเวณที่อยู่หน้าเตา ใส่เชื้อเพลิงให้ความร้อนกระจายเข้าสู่เตาเพื่อไล่อากาศเย็นและ
ความชื้นที่อยู่ในเตาและในเนื้อไม้ ควันที่ออกมาจากปล่องควันจะเป็นสีขาว ควันจะมีกลิ่นเหม็น ซึ่งเป็น
กลิ่นของกรดประเภทเมธาทอลที่อยู่ในเนื้อไม้ อุณหภูมิบริเวณปากปล่องควันประมาณ 70 - 75 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิภายในเตาประมาณ 150 องศาเซลเซียส ใส่เชื้อเพลิงต่อไป ควันสีาวตรงปล่องควันจะเพิ่มขึ้น
อุณหภูมิบริเวณปากปล่องควันประมาณ 70-75 องศาเซลเซียส อุณหภูมิภายในเตาประมาณ
200-250 องศาเซลเซียส ควันมีกลิ่นเหม็นฉุน
ช่วงที่ 2 เมื่อไม้กลายเป็นถ่าน หรือ ปฏิกิริยาคลายความร้อน
      เมื่อเผาไปอีกระยะหนึ่ง ควันสีขาวจะเริ่มบางลง และเปลี่ยนเป็นสีเทา อุณหภูมิบริเวณปากปล่องควัน
ประมาณ 80-85 องศาเซลเซียส อุณหภูมิภายในเตาประมาณ 300-400 องศาเซลเซียส ไม้ที่อยู่ในเตา
จะคายความร้อนที่สะสมเอาไว้เพียงพอที่จะทำให้อุณหภูมิในเตาจะเพิ่มสูงขึ้นในช่วงนี้ค่อยๆ ลดการป้อน
เชื้อเพลิงหน้าเตาจนหยุดการป้อนเชื้อเพลิง และเริ่มเก็บน้ำส้มควันไม้ หลังจากการหยุดการป้อนเชื้อเพลิง
หน้าเตา จะต้องควบคุมอากาศโดยการหรี่หน้าเตาหรือลดพื้นที่หน้าเตาลงให้เหลือช่องพื้นที่หน้าเตา
ประมาณ 20-30 ตารางเซนติเมตร สำหรับให้อากาศเข้า เพื่อรักษาระดับของอุณหภูมิในเตาไว้ให้นานที่สุด
และยืดระยะเวลาการเก็บน้ำส้มควันไม้ให้นานที่สุด โดยช่วงที่เหมาะสมกับการเก็บน้ำส้มควันไม้ควรมีอุณหภูมิ
บริเวณปากปล่องควัน ประมาณ 85-120 องศาเซลเซียส เนื่องจากเป็นช่วงที่สารในเนื้อไม้ถูกขับออกมา
จากนั้นควันก็เปลี่ยนจากควันสีเทาเป็นสีน้ำเงิน จึงหยุดเก็บน้ำส้มควันไม้ อุณหภูมิบริเวณปากปล่องควัน
ประมาณ 100-200 องศาเซลเซียส อุณหภูมิภายในเตาประมาณ 400-450 องศาเซลเซียส
ช่วงที่ 3 ช่วงทำถ่านให้บริสุทธิ์
      ขั้นตอนนี้เป็นช่วงที่ไม้จะเปลี่ยนเป็นถ่าน ต้องทำการเพิ่มอุณหภูมิอย่างรวดเร็ว โดยการเปิดหน้าเตา
ประมาณ 1 ใน 3 ของหน้าเตาทิ้งไว้ประมาณ 30 นาที เมื่อควันสีน้ำเงิน เป็นเสีฟ้า แสดงว่าไม้เริ่มเป็นถ่านใกล้หมด
จากนั้นควันสีฟ้าอ่อนลงและจะกลายเป็นควันใสแทน เมื่อมีควันใสเริ่มทำการปิดหน้าเตา โดยใช้ดินเหนียวปิดรอยรั่ว
และรอยต่อ จากนั้นทำการปิดปล่องควันให้สนิทและอุดรูรั่วทั้งหมด ไม่ให้อากาศภายนอกผ่านเข้าไปได้

ช่วงที่ 4 ช่วงทำการให้ถ่านในเตาเย็นลง

      เกลี่ยดินบนเตาออกให้เห็นหลังเตา เพื่อระบายความร้อนในเตา จากนั้นทิ้งไว้ประมาณ 1 คืน
หรือประมาณ 8 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย เพื่อให้ถ่านดับสนิท แล้วจึงเริ่มการเปิดเตาเพื่อนำถ่านออกจากเตา และนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป



เตาเผาถ่าน 200 ลิตร     
    เตาเผาถ่าน 200 ลิตร เป็นเตาที่มีประสิทธิภาพสูง เตาประเภทนี้อาศัยความร้อนไล่ความชื้นในเนื้อไม้
ที่มีอยู่ในเตา ทำให้ไม้กลายเป็นถ่าน หรือเรียกว่า
กระบวนการคาร์บอนไนเซชั่นนอกจากนี้โครงสร้างลักษณะปิดทำให้สามารถควบคุมอากาศได้ จึงไม่มีการลุกติดไฟของเนื้อไม้ ผลผลิตที่ได้จึง
เป็นถ่านที่มีคุณภาพ ขี้เถ้าน้อยและผลพลอยได้จากกระบวนการเผาถ่าน อีกอย่างหนึ่งคือ น้ำส้มควันไม้ที่สามารถ
นำไปใช้ประโยชน์ในด้านการเกษตรได้
  
       http://www.fisheries.go.th/cf-kung_krabaen/agricul1.htm

วันศุกร์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ปุ๋ยจากเศษอาหาร

ปุ๋ยหมักจากเศษอาหาร  

 

. หาปลอกซีเมนต์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 80-100 ซม. จำนวน 2-3 ปลอกแล้วแต่ชอบนำมาซ้อนกัน หนุนรองด้วยไม้ หรืออิฐ จำนวน 3มุม ให้มั่นคง เดี๋ยวจะล้มมาทับท่านเอง ตั้งให้อยู่ในร่มจะดีมาก ให้สูงจากพื้นประมาณ 15 ซม. เอาไว้โกยปุ๋ยออก
2. หาเศษกิ่งไม้ หญ้า ฟาง ใส่ลงสูงไปประมาณ 50-60 ซม. จากนั้นท่านก็นำเศษอาหาร เปลือกผลไม้ ซากสัตว์ น้ำล้างปลา หัวปลา ไส้ปลา เยอะแยะครับ ใส่ลงไป กะประมาณสัก 5-10 ซม.  ไม่ได้ให้ใส่วันเดียวนะครับ ใส่ไปเรื่อยๆ วันไหนเหลือก็ใส่ลงไป สิ่งที่ยกเว้นห้ามใส่คือพวกที่ย่อยสลายไม่ได้ เช่น เหล็ก พลาสติก อันนี้แยกเอาไปขายจะดีกว่า และพวกสารเคมีต่างๆ
3. ทำสลับกันไปอย่างนี้เรื่อยๆเป็นชั้นๆ ถ้าครอบครัวท่านที่มีสมาชิกประมาณ 4-7 ท่าน ผมรับรองครับว่า เฉพาะเศษอาหาร ครึ่งปีก็ไม่เต็มสำหรับปลอกขนาด 1 เมตรอย่างที่บ้านผมใช้ เพราะมันจะยุบลงไปเรื่อยๆ
4. ประมาณ 45 วัน ท่านจะสังเกตุเห็นปุ๋ยหมักที่ด้านล่างสุดของปลอก ตามในรูป เอาไปใช้ได้เลยครับ รับรองว่าไม่เหม็น

เทคนิค ที่บ้านผมจะเติม พวกน้ำหมัก หรือปุ๋ยชีวภาพลงไปด้วยเพื่อเร่งการย่อยสลาย และกำจัดกลิ่นครับ ถ้าที่บ้านท่านไม่มีหัวเชื้อจุลินทรีย์ ก็ไม่ต้องไปซื้อนะครับ ทำเองง่ายนิดเดียว หรือขอพวก พด. 1 จากพัฒนาที่ดินมาเติมก็ได้ครับ ของฟรีใส่ไปเถอะ ดีกว่าเก็บไว้ให้หมดอายุ  พวกหัวเชื้อ EM เดี๋ยวนี้เกือบร้อยหรือยังไม่รู้เพราะไม่ได้ซื้อนานแล้ว
 



                        http://www.takeang.com/takeang_forums/index.php?topic=161.0                       

ปุ๋ยหมัก

                                        ปุ๋ยหมัก                                


 

ปุ๋ยหมัก คือ ปุ๋ยอินทรีย์ หรือปุ๋ยธรรมชาติ ชนิดหนึ่งที่ได้มาจากการนำเอาเศษซากพืช เช่น ฟางข้า ซังข้าวโพด ต้นถั่วต่าง ๆ หญ้าแห้ง ผักตบชวา ของเหลือทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรม ตลอดจนขยะมูลฝอยตามบ้านเรือนมาหมักร่วมกับมูลสัตว์ ปุ๋ยเคมีหรือสารเร่งจุลินทรีย์เมื่อหมักโดยใช้ระยะเวลาหนึ่งแล้ว เศษพืชจะเปลี่ยนสภาพจากของเดิมเป็นผงเปื่อยยุ่ยสีน้ำตาลปนดำนำไปใส่ในไร่นาหรือพืชสวน เช่น ไม้ผล พืชผัก หรือไม้ดอกไม้ประดับได้
                                                                                
 
ประโยชน์ของปุ๋ยหมัก
1. ช่วยเพิ่มปริมาณอินทรีย์วัตถุให้แก่ดิน ทำให้ดินอุดมสมบูรณ์
2. ช่วยเปลี่ยนสภาพของดินจากดินเหนียวหรือดินทรายให้เป็นดินร่วนทำให้สะดวกในการไถพรวน
3. ช่วยสงวนรักษาความชุ่มชื้นในดินได้ดีขึ้น
4. ทำให้การถ่ายเทอากาศในดินได้ดี
5. ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ปุ๋ยเคมีและสามารถลดการใช้ปุ๋ยเคมีลงได้
6. ช่วยกระตุ้นให้ธาตุอาหารพืชบางอย่างในดินที่ละลายน้ำยากให้ละลายน้ำง่ายเป็นอาหารแก่พืชได้ดีขึ้น
7. ไม่เป็นอันตรายต่อดินแม้จะใช้ในปริมาณมาก ๆ ติดต่อกันนาน ๆ
8. ช่วยปรับสภาพแวดล้อม เช่น กำจัดขยะมูลฝอยและวัชพืชน้ำทั้งหลายให้หมดไป 
                 

   วิธีการทำปุ๋ยหมัก
ปุ๋ยหมักโดยทั่วไปแบ่งออกเป็น 3 ชนิด คือ ปุ๋ยหมักในไร่นา ปุ๋ยหมักเทศบาลและปุ๋ยหมักอุตสาหกรรม ในที่นี้จะขอกล่าวถึงเฉพาะปุ๋ยหมักในไร่นา
สำหรับปุ๋ยหมักในไร่นานี้มีแบบวิธีการทำ 5 แบบ ซึ่งสามารถเลือกทำแบบใดแบบหนึ่งก็ได้ หรืออาจจะทำหลาย ๆ แบบก็ได้ ขึ้นอยู่กับความพร้อมของผู้ทำ
 แบบที่ 1 ปุ๋ยหมักค้างปี ใช้เศษพืชเพียงอย่างเดียวนำมาหมักทิ้งไว้ค้างปีก็สามารถนำมาใช้เป็นปุ๋ยหมักได้
แบบนี้ไม่ต้องดูแลรักษา จึงต้องใช้ระยะเวลาในการหมักนาน เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่มีเวลา

 แบบที่ 2 ปุ๋ยหมักธรรมดาใช้มูลสัตว์ แบบนี้ใช้เศษพืชและมูลสัตว์ในอัตรา 100:10 ถ้าเป็นเศษพืช
ชิ้นส่วนเล็กนำมาคลุกผสมได้เลย แต่ถ้าเป็นเศษพืชชิ้นส่วนใหญ่นำมากองเป็นชั้น ๆ (แต่ละกองจะทำประมาณ 3 ชั้น แต่ละชั้นประกอบด้วยเศษพืชที่ย่ำและรดน้ำ สูงประมาณ 30-40 ซม. แล้วโรยทับด้วยมูลสัตว์) แบบนี้จะใช้ระยะเวลาหมักน้อยกว่าแบบที่ 1 เช่น ถ้าใช้ฟางข้าวจะใช้ระยะเวลาประมาณ 6-8 เดือน ขึ้นอยู่กับการดูแลรักษา
 แบบที่ 3 ปุ๋ยหมักธรรมดาใช้ปุ๋ยเคมี แบบนี้ใช้เศษพืช มูลสัตว์ และปุ๋ยเคมีในอัตรา 100:10:1
ถ้าเป็นชิ้นส่วนเล็กนำมาคลุกผสมได้เลย ถ้าเป็นชิ้นส่วนใหญ่นำมากองเป็นชั้นเหมือนแบบที่ 2 เพียงแต่ในแต่ละชั้นจะเพิ่มปุ๋ยเคมีขึ้นมา โดยโรยทับมูลสัตว์ แบบนี้ใช้ระยะเวลาในการหมักเร็วกว่าแบบที่ 2 กล่าวคือถ้าเป็นฟางข้าวจะใช้เวลาประมาณ4-6 เดือน
 แบบที่ 4 ปุ๋ยหมักแผนใหม่ การทำปุ๋ยหมักแบบที่ 1-3 นั้นใช้เวลาค่อนข้างมากต่อมากรมพัฒนาที่ดิน
ได้ศึกษาค้นคว้าพบว่าการทำปุ๋ยหมักโดยใช้เวลาสั้นทำได้โดยการใช้เชื้อจุลินทรีย์เร่งการย่อยสลายของเศษพืช ทำให้ได้ปุ๋ยหมักเร็วขึ้น นำไปใช้ได้ทันฤดูกาลสามารถใช้ระยะเวลาหมักเพียง 30-60 วัน ใช้สูตรดังนี้
 เศษพืช 1,000
   กก.
มูลสัตว์  100-200    กก.
ปุ๋ยเคมี 1-2    กก.
เชื้อจุลินทรีย์ตัวเร่ง 1   ชุด

(เชื้อจุลินทรีย์ตัวเร่งในปี 2526-2527 ใช้เชื้อ บี 2 ชุดหนึ่ง ประกอบด้วยเชื้อจุลินทรีย์บี 2 จำนวน 2300 กรัม และอาหารเสริม 1 กก.) ถ้าเป็นเศษพืชชิ้นส่วนเล็กก็นำเศษพืช มูลสัตว์ และปุ๋ยเคมีมาคลุกผสมเข้ากัน แล้วเจาะหลุมหยอดเชื้อจุลินทรีย์ตัวเร่งซึ่งเตรียมไว้ก่อนโดยนำมาผสมน้ำ ใช้น้ำประมาณ 40 ลิตร กวนให้เข้ากันอย่างดี แต่ถ้าเป็นเศษพืชชิ้นส่วนใหญ่ก็นำมากองเป็นชั้นเหมือนแบบที่ 3 แต่ละชั้นประกอบด้วยเศษพืชที่ย่ำและรดน้ำ สูง30-40 ซม.มูลสัตว์โรยทับเศษพืช ปุ๋ยเคมีโรยทับมูลสัตว์ แล้วราดเชื้อจุลินทรีย์ตัวเร่ง
 แบบที่ 5 ปุ๋ยหมักต่อเชื้อ ในการทำปุ๋ยหมักแบบที่ 4 นั้น จำเป็นต้องซื้อสารตัวเร่งเชื้อจุลินทรีย์ 1 ชุด
ทุกครั้งที่ทำปุ๋ยหมัก 1 ตัน ทำให้มีแนวความคิดว่าหากสามารถนำ มาต่อเชื้อได้ก็จะเป็นการประหยัดและเกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรและผู้ทำปุ๋ยหมักทั่วไป กรมพัฒนาที่ดินจึงได้ทำการทดลองและพบว่า สามารถต่อเชื้อได้ โดยใช้ปุ๋ยหมักที่ทำในแบบที่ 4 กล่าวคือ หลังจากได้ปุ๋ยหมักที่ใช้ได้แล้วในแบบที่ 4 ให้เก็บไว้ 50-100 กก. การเก็บต้องเก็บไว้ในโรงเรือนที่ไม่ถูกแดดและฝน ปุ๋ยหมักที่เก็บไว้ 50-100 กก. สามารถนำไปต่อเชื้อทำปุ๋ยหมักได้อีก 1 ตัน การต่อเชื้อนี้สามารถทำการต่อได้เพียง 3 ครั้ง
การดูแลรักษากองปุ๋ยหมัก
หลังจากกองปุ๋ยหมักเสร็จแล้วจะต้องหมั่นตรวจดูแลกองปุ๋ยหมักอยู่เสมอโดยปฏิบัติดังนี้
 1. จะต้องป้องกันไม่ให้สัตว์เข้าไปทำลาย หรือคุ้ยเขี่ยกองปุ๋ยหมัก ถ้ากองแบบในคอกก็ไม่มีปัญหา
แต่ถ้ากองบนพื้นดินหรือในหลุมควรหาทางมะพร้าวหรือกิ่งไม้วางทับกองปุ๋ยหมักไว้กันสัตว์คุ้ยเขี่ย
 2. ทำการให้น้ำกองปุ๋ยหมักให้มีความชื้นพอเหมาะอยู่เสมอ คือ ไม่ให้แห้งหรือแฉะเกินไป
มีวิธีการตรวจอย่างง่ายๆ คือ เอามือสอดเข้าไปในกองปุ๋ยหมักให้ลึกๆ แล้วหยิบเอาชิ้นส่วนภายในกองปุ๋ยหมักมาบีบดู ถ้าปรากฏว่ามีน้ำติดฝ่ามือแสดงว่าความชื้นพอเหมาะไม่ต้องให้น้ำ ถ้าไม่มีน้ำติดฝ่ามือแสดงว่ากองปุ๋ยหมักแห้งเกินไปต้องให้น้ำในระยะนี้ ถ้าบีบดูมีน้ำทะลักออกมาตามง่ามนิ้วมือ แสดงว่าแฉะเกินไปไม่ต้องให้น้ำ
 3. การกลับกองปุ๋ย นับเป็นหัวใจสำคัญในการทำปุ๋ยหมักจะละเลยมิได้ เพราะเชื้อจุลินทรีย์ต่าง ๆ
ก็ย่อมต้องการอากาศหายใจเหมือนมนุษย์ ดังนั้นการกลับกองปุ๋ยหมักนอกจากจะช่วยให้ออกซิเจนแก่จุลินทรีย์แล้ว ยังเป็นการระบายความร้อนออกจากกองปุ๋ยอีกด้วย ยิ่งขยันกลับกองปุ๋ยหมักมากเท่าไรก็จะทำให้ได้ปุ๋ยหมักใช้เร็วมากขึ้นเท่านั้น เพราะทำให้เศษพืชย่อยสลายทั่วทั้งกอง และได้ปุ๋ยหมักที่มีคุณภาพดีอีกด้วย ตามปกติควรกลับกองปุ๋ยหมักอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง
หลักในการพิจารณาว่ากองปุ๋ยหมักนั้นใช้ได้หรือยัง
เมื่อกองปุ๋ยหมักเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะเกิดปฏิกิริยาทางเคมีทั้งที่มองเห็นได้และที่มองเห็นไม่ได้ ที่มองเห็นได้ก็คือ ชิ้นส่วนของพืชจะมีขนาดเล็กลงและยุบตัวลงกว่าเมื่อเริ่มกอง สีของเศษพืชก็จะเปลี่ยนไป ส่วนที่มองเห็นไม่ได้ก็คือปริมาณของจุลินทรีย์ ทีนี้จะสังเกตว่าปุ๋ยหมักสามารถนำมาใช้ได้หรือไม่มีข้อสังเกตง่ายๆ ดังนี้
 1. สีของกองปุ๋ยหมักจะเข้มขึ้นกว่าเมื่อเริ่มกอง อาจมีสีน้ำตาลเข้มถึงดำ

 2. อุณหภูมิภายในของปุ๋ยหมักและอุณหภูมิภายนอกใกล้เคียงกันหรือแตกต่างกันน้อยมาก
 3. ใช้นิ้วมือบี้ตัวอย่างปุ๋ยหมักดูเศษพืชจะยุ่ยและขาดออกจากกันได้ง่าย ไม่แข็งกระด้าง
 4. พบต้นพืชที่มีระบบรากลึกขึ้นบนกองปุ๋ยหมัก แสดงว่าปุ๋ยหมักสลายตัวดีแล้ว
 5. สังเกตกลิ่นของปุ๋ยหมัก ถ้าเป็นปุ๋ยหมักที่ใช้ได้ ปุ๋ยหมักจะมีกลิ่นคล้ายกลิ่นธรรมชาติ
ถ้ามีกลิ่นฉุนหรือมีกลิ่นฟางแสดงว่าปุ๋ยหมักยังใช้ไม่ได้ เนื่องจากขบวนการย่อยสลายยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ
 6. วิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการดูธาตุคาร์บอน และไนโตรเจน ถ้ามีอัตราส่วนเท่ากันหรือต่ำกว่า 20 : 1
 ก็พิจารณาเป็นปุ๋ยหมักได้แล้ว
ข้อควรคำนึงในการกองปุ๋ยหมัก
 1. อย่ากองปุ๋ยหมักให้มีขนาดใหญ่เกินไป เพราะจะทำให้เกิดความร้อนระอุเกิน 70 องศาเซลเซียส
ซึ่งจะเป็นผลทำให้เชื้อจุลินทรีย์ตายได้ ขนาดกองปุ๋ยหมักที่เหมาะสมคือ ความกว้างไม่ควรเกิน 2-3 เมตร ความยาวไม่จำกัด สูงประมาณ 1-1.50 เมตร
 2. ถ้ากองปุ๋ยหมักมีขนาดเล็กเกินไป จะทำให้เก็บรักษาความร้อนและความชื้นไว้ได้น้อย
ทำให้เศษพืชสลายตัวเป็นปุ๋ยหมักได้ช้า
 3. อย่ารดน้ำโชกจนเกินไป จะทำให้การระบายอากาศในกองปุ๋ยไม่ดีอาจทำให้เกิดกรดอินทรีย์บางอย่าง
เป็นเหตุให้มีกลิ่นเหม็นอับได้ง่าย
 4. ถ้าเกิดความร้อนในกองปุ๋ยหมักมาก ต้องเพิ่มน้ำให้กองปุ๋ย มิฉะนั้นจุลินทรีย์ที่ย่อยซากพืชจะตายได้
 5. ถ้าจะมีการใช้ปูนขาว อย่าใช้ปุ๋ยเคมีพร้อมกับการใส่ปูนขาวเพราะจะทำให้ธาตุไนโตรเจนสลายตัวไป
กรณีใช้ฟางข้าวในการกองปุ๋ยหมักไม่จำเป็นต้องใช้ปูนขาว
 6. เศษวัสดุที่ใช้ในการกองปุ๋ยหมักมีทั้งประเภทที่สลายตัวเร็ว เช่น ฟางข้าว ผักตบชวา เปลือกถั่ว
และต้นถั่วเศษวัชพืชต่าง ๆ และประเภทที่สลายตัวยาก เช่น แกลบ ขี้เลื่อย ขี้ลีบข้าว กากอ้อย ขุยมะพร้าว ซังข้าวโพด ดังนั้นในการกองปุ๋ยหมักไม่ควรเอาเศษวัสดุที่สลายตัวเร็วและสลายตัวยากกองปนกัน เพราะจะทำให้ได้ปุ๋ยหมักที่ไม่สม่ำเสมอกันเนื่องจากเศษพืชบางส่วนยังสลายตัวไม่หมด
คุณค่าทางอาหารพืชของปุ๋ยหมัก
แสดงคุณค่าทางอาหารพืชที่ได้จากปุ๋ยหมักบางชนิด
ชนิดของปุ๋ยหมัก % ธาตุอาหารของพืช

 N   P2O5 K2O
ปุ๋ยหมักจากขยะเทศบาล 1.52 0.22 0.18
ปุ๋ยหมักจากหญ้าแห้ง 1.23 1.26 0.76
หญ้าหมัก+กระดูกป่น+มูลกระบือ 0.82 1.43 0.59
หญ้าหมัก+กระดูกป่น+มูลโค 2.33 1.78 0.46
หญ้าหมัก+กระดูกป่น+มูลแพะ 1.11 4.04 0.48
หญ้าหมัก+กระดูกป่น+มูลม้า 0.82 2.83 0.33
ปุ๋ยหมักจากใบจามจุรี 1.45 0.19 0.49
ปุ๋ยหมักจากฟางข้าว 0.85 0.11  0.76
ปุ๋ยหมักฟางข้าว+มูลไก่ 1.07 0.46 0.94
ปุ๋ยหมักฟางข้าว+มูลโค 1.51 0.26 0.98
ปุ๋ยหมักฟางข้าว+มูลเป็ด 0.91 1.30 0.79
ปุ๋ยหมักจากผักตบชวา 1.43 0.48 0.47
ปุ๋ยหมักผักตบชวา+มูลสุกร 1.85 4.81 0.79
ปุ๋ยอินทรีย์(เทศบาล)ชนิดอ่อน 0.95 3.19 0.91
ปุ๋ยอินทรีย์(เทศบาล)ชนิดปานกลาง 1.34 2.44 1.12
ปุ๋ยอินทรีย์(เทศบาล)ชนิดแรง 1.48  2.96 1.15
การใช้ประโยชน์กับพืชต่าง ๆ
วิธีการใช้ปุ๋ยหมักมีวิธีการดังนี้ (พิทยากร และคณะ, 2531: 8-11) ได้รายงานว่า สำหรับวิธีการใส่ปุ๋ยหมักสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 วิธี ตามชนิดของพืชที่ปลูกโดยมีจุดประสงค์เพื่อความสะดวกในการปฏิบัติ และเพื่อให้ธาตุอาหารพืชในปุ๋ยหมักเป็นประโยชน์ต่อพืชมากที่สุดและเกิดการสูญเสียน้อย เนื่องจากปุ๋ยหมักที่ใช้มีปริมาณมากยากต่อการขนส่งและเคลื่อนย้าย วิธีการใส่ปุ๋ยหมักมีดังนี้คือ
 1. ใส่แบบหว่านทั่วแปลง การใส่ปุ๋ยหมักแบบนี้เป็นวิธีการที่ดีต่อการปรับปรุงบำรุงดินเนื่องจากปุ๋ยหมัก
จะกระจายอย่างสม่ำเสมอทั่วทั้งแปลงปลูกพืชที่มีขนาดไม่ใหญ่มากนัก ส่วนมากจะใช้กับการปลูกข้าวหรือพืชไร่ หรือพืชผัก แต่อาจมีปัญหาในด้านจะต้องใช้แรงงานในการใส่ปุ๋ยหมัก อัตราของปุ๋ยหมักที่ใช้ประมาณ 2 ตัน ต่อไร่ต่อปี โดยใช้ร่วมกับปุ๋ยเคมีสูตร 16-20-0, 18-22-0, 20-20-0 ถ้าดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำอาจจะใช้สูตร16-16-8 ในอัตรา 15-30 กก. ต่อไร่
 2. ใส่แบบเป็นแถว การใส่ปุ๋ยหมักแบบเป็นแถวตามแนวปลูกพืชมักใช้กับการ ปลูกพืชไร่
วิธีการใส่ปุ๋ยหมักแบบเป็นแถวนี้เหมาะสมที่จะใช้ร่วมกับการใส่ปุ๋ยเคมีแบบโรยเป็นแถวสำหรับการปลูกพืชไร่ทั่วไป เนื่องจากปุ๋ยหมักจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของปุ๋ยเคมีที่ใส่ให้เป็นประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตของพืช อัตราปุ๋ยหมักที่ใช้ประมาณ 3 ตัน ต่อไร่ต่อปี โดยใช้ร่วมกับปุ๋ยเคมีสูตร 16-20-0, 18-22-0 ในอัตรา 25-50 กก. ต่อไร่ สำหรับในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ สูตรปุ๋ยอาจต้องใส่โพแทสเซียมเพิ่มขึ้นด้วย
 3.ใส่แบบเป็นหลุม การใส่ปุ๋ยหมักแบบเป็นหลุมมักจะใช้กับการปลูกไม้ผลและไม้ยืนต้น โดยสามารถ
ใส่ปุ๋ยหมักได้สองระยะคือ ในช่วงแรกของการเตรียมหลุมเพื่อปลูกพืช นำดินด้านบนของหลุมคลุกเคล้ากับปุ๋ยหมักแล้วใส่รองก้นหลุม หรืออาจจะใส่ปุ๋ยเคมีร่วมด้วย อีกระยะหนึ่งอาจจะใส่ปุ๋ยหมักในช่วงที่พืชเจริญแล้ว โดยการขุดเป็นร่องรอบ ๆ ต้นตามแนวทรงพุ่มของต้นพืช แล้วใส่ปุ๋ยหมักลงในร่องแล้วกลบด้วยดิน หรืออาจจะใส่ปุ๋ยเคมีร่วมกับปุ๋ยหมักในช่วงนี้ได้เช่นกัน อัตราการใช้ปุ๋ยหมักประมาณ 20-50 กก. ต่อหลุม ร่วมกับปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15, 14-14-14, 12-12-7 ในอัตรา 100-200 กรัม ต่อหลุมในกรณีที่ใส่ปุ๋ยหมักกับไม้ผลที่เจริญแล้ว อัตราการใช้อาจจะเพิ่มขึ้นตามส่วน และมักจะใส่ปุ๋ยหมักปีเว้นปี
มาตรฐานของปุ๋ยหมัก
ปุ๋ยหมักที่มีคุณภาพดี ได้มาตรฐานให้พิจารณาดังนี้
 1. มีเกรดปุ๋ยไม่ต่ำกว่า 1:1:0.5 (ไนโตรเจน : ฟอสฟอรัส : โพแทสเซียม)
 2. มีความชื้นและสิ่งที่ระเหยได้ไม่มากกว่าร้อยละ 35 - 40 โดยน้ำหนัก
 3. ความชื้นเป็นกรดเป็นด่างอยู่ระหว่าง 6.0 - 7.5
 4. ปุ๋ยหมักที่ใช้ได้แล้วจะต้องไม่มีความร้อนหลงเหลืออยู่
 5. ปุ๋ยหมักที่ใช้ได้แล้วไม่ควรมีวัสดุเจือปนอื่น ๆ
 6. จะต้องมีปริมาณอินทรีย์วัตถุอยู่ระหว่าง 25 - 50 %
 7. จะต้องมีอัตราส่วนระหว่างธาตุคาร์บอนต่อไนโตรเจนไม่มากกว่า 20 ต่อ 1
 

วันเข้าพรรษา

                              
 วันเข้าพรรษา


   

วันเข้าพรรษา คือ เป็นวันที่พระภิกษุสงฆ์อธิษฐานว่าจะพักประจำอยู่ ณ ที่แห่งใดแห่งหนึ่ง ตลอดระยะเวลาฤดูฝนมีกำหนด 3 เดือนตามพระวินัยบัญญัติ โดยไม่ไปค้างแรมในที่อื่น เรียกกันโดยทั่วไปว่า "จำ  
พรรษา" 


 

วันเข้าพรรษา เป็นวันที่พระสงฆ์เริ่มอยู่จำพรรษาตลอด 3 เดือน ในฤดูฝน ตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำเดือน 8 จนถึงกลางเดือน 11 วันเข้าพรรษาที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตไว้มีอยู่ 2 วันคือ

  •  
        วันเข้าปุริมพรรษา คือเข้าพรรษาแรก ตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ไปจนถึงวันเพ็ญกลางเดือน 11
  •  
        วันเข้าปัจฉิมพรรษา  คือวันเข้าพรรษาหลัง ตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำเดือน 9 ไปจนถึงวันเพ็ญเดือน 12
    เมื่อเข้าพรรษาแล้วหากภิกษุมีกิจธุระจำเป็น อันชอบด้วยพระวินัย พระพุทธเจ้าก็ทรงอนุญาตให้ไปได้ โดยมีข้อจำกัดว่าจะต้องกลับมายังสถานที่จำพรรษาเดิมภายใน 7 วัน ที่เรียกว่า สัตตาหกรณียะ ดังต่อไปนี้ 
 
  
  1.  
    เมื่อทายกทายิกา ปราถนาจะบำเพ็ญกุศล เมื่อมานิมนต์ก็ให้ไปเพื่อรักษาศรัทธาได้
  2.  
    ถ้าสงฆ์ ณ ที่แห่งใดแห่งหนึ่งเกิดอธิกรณ์ขึ้น ก็ให้ไปเพื่อระงับอธิกรณ์ได้
  3.  
    ถ้าบิดา มารดา ญาติ พี่น้อง พระอุปัชฌาย์ อาจารย์ เป็นไข้ เมื่อทราบก็ให้ไปได้
  4.  
    พระวิหารในที่แห่งอื่นเกิดชำรุดเสียหาย ให้ไปหาสิ่งของเพื่อมาปฏิสังขรพระวิหารนั้นได้
  5.  
    เมื่อถูกสัตว์ร้ายรบกวน ถูกโจรปล้น พระวิหารถูกไฟไหม้ หรือถูกน้ำท่วม ก็ให้ไปจากที่นั้นได้
  6.  
    เมื่อชาวบ้านถูกโจรปล้น อพยพหนีไป ก็ให้ไปกับพวกชาวบ้านได้โดยให้ไปกับชาวบ้านที่มีความเลื่อมใสศรัทธาสามารถที่จะให้ความอุปถัมภ์ได้
  7.  
    เมื่อที่ใดเกิดความขาดแคลน อาหารหรือยารักษาโรค ขาดผู้อุปถัมภ์บำรุง ได้รับความลำบากก็อนุญาตให้ไปจากที่นั้นได้
  8.  
    ถ้าหากมีผู้เอาทรัพย์มาล่อ ก็อนุญาตให้ไปจากที่นั้นได้
  9.  
    หากภิกษุสงฆ์หรือภิกษุณีสงฆ์แตกกันหรือมีผู้พยายามจะให้แตกกัน ถ้าการไปจากที่นั้นสามารถระงับการแตกกันได้ ก็อนุญาตให้ไปได้
  
ในวันเข้าพรรษา ถือว่าเป็นกรณียกิจพิเศษสำหรับพระภิกษุสงฆ์ จะมีการประชุมกันในพระอุโบสถ ไหว้พระสวดมนต์ ขอขมาซึ่งกันและกัน เสร็จแล้วก็ประกอบพิธีเข้าพรรษา ภิกษุจะอธิษฐานใจตนเองว่า ตลอดฤดูกาลเข้าพรรษานี้ตนเองจะไม่ไปไหน ด้วยการเปล่งวาจาว่า
อิมสฺมึ  อาวาเส  อิมํ  เตมาสํ  วสฺสํ  อุเปมิ
หรือว่า อิมสฺมึ  วิหาเร  อิมํ  เตมาสํ  วสฺสํ  อุเปมิ
แปลว่า ข้าพเจ้าขออยู่จำพรรษาตลอด 3 เดือน ในอาวาสนี้ หรือในวิหารนี้  (ว่า 3 ครั้ง)
หลังจากเสร็จพิธีเข้าพรรษาแล้วก็นำดอกไม้ ธูป เทียน ไปนมัสการปูชนียวัตถุที่สำคัญในอาวาสนั้น  ในวันต่อมาก็นำดอกไม้ ธูป เทียน ไปขอขมาพระอุปัชฌาย์อาจารย์ และพระเถระที่ตนเคารพนับถือ
  
   วิธีการปฏิบัติตนและพิธีกรรม 

   วันเข้าพรรษานี้ตามประวัติ ชาวไทยเราได้ประกอบพิธีทางศาสนาเนื่องในวันเข้าพรรษา มาตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัย ซึ่งมีทั้ง พิธีหลวง และ พิธีราษฎร์ กิจกรรมที่กระทำก็มีการเตรียมเสนาสนะให้อยู่ในสภาพที่ดี สำหรับจะได้จำพรรษาอยู่ตลอด 3 เดือน จัดทำ เทียนจำนำพรรษา เพื่อใช้จุดบูชาพระบรมธาตุ พระพุทธปฏิมา พระปริยัติธรรม ตลอดทั้ง 3 เดือน ถวายธูป เทียน ชวาลา น้ำมันตามไส้ประทีปแก่พระภิกษุสงฆ์ที่อยู่จำพรรษาในพระอาราม   สำหรับเทียนจำนำพรรษาจะมีการ แห่เทียน ไปยังพระอารามทั้งทางบกและทางน้ำตามแต่หนทางที่ไปจะอำนวยให้ เพื่อนำเทียนเข้าไปตั้งในพระอุโบสถหรือพระวิหาร แล้วก็จะจุดเทียนเพื่อบูชาพระรัตนตรัย

      
    สำหรับการปฏิบัติอื่นๆ ก็จะมีการถวาย ผ้าอาบน้ำฝน การอธิษฐานตนว่าจะประพฤติปฏิบัติให้อยู่ในกรอบของศีลห้า ศีลแปด ฟังเทศน์ฟังธรรม ตามระยะเวลาที่กำหนดโดยเคร่งครัด ตามกำลังศรัทธา และขีดความสามารถของตน นับว่าวันเข้าพรรษาเป็นโอกาสอันดีที่พุทธศาสนิกชน จะได้ประพฤติปฏิบัติตนในกรอบของพระพุทธศาสนาได้เข้มข้นยิ่งขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง  http://www.thaigoodview.com/library/teachershow/poonsak/budda/performance.html

วันพฤหัสบดีที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

วันอาสาฬหบูชา

   

                  วันอาสาฬหบูชา 

                
 
                                           

วันอาสาฬหบูชา หมายถึง การบูชาในวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 วันอาสาฬหบูชาเป็นวันที่พระพุทธเจ้าได้ทรงประกาศพระพุทธศาสนาเป็นครั้งแรก โดยการแสดงปฐมเทศนา โปรดพระปัญจวัคคีย์ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน จนพระอัญญาโกณฑัญญะได้บรรลุธรรมและขอบวชเป็นพระภิกษุรูปแรกในพระพุทธศาสนา จึงถือว่าวันนี้เป็นวันแรกที่มีพระสงฆ์เกิดขึ้นครบองค์พระรัตนตรัย  

         วันอาสาฬหบูชา  เป็นวันที่สมเด็จพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้แสดง พระปฐมเทศนา หรือการแสดง  พระธรรมครั้งแรก หลังจากที่ตรัสรู้ได้ 2 เดือน เป็นวันที่เริ่มประดิษฐานพระพุทธศาสนาเนื่องจากมีองค์ประกอบของ  พระรัตนตรัยครบถ้วนคือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นก่อนพุทธศักราช 45 ปี ในวันเพ็ญ (ขึ้น 15ค่ำ) เดือน 8 ดวงจันทร์ เสวยมาฆฤกษ์
            การแสดงพระปฐมเทศนา ได้ทรงแสดงแก่ปัญจวัคคีย์  ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี ปัจจุบันคือสารนาถ เมืองพาราณสี พระธรรมที่แสดงคือ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร เมื่อเทศนาจบ พระโกณฑัญญะ   หนึ่งในปัญจวัคคีย์ ผู้ประกอบด้วย พระโกณฑัญญะ พระวัปปะ พระภัททิยะ พระมหานาม และพระอัสสชิ  ก็ได้ดวงตาเห็นธรรม มีความเห็นแจ้งชัดว่า
ยํ กิญฺจิ สมุทยธมฺมํ      สพฺพนฺตํ นิโรธธมฺมนฺติ
สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นเป็นธรรมดา    สิ่งใดสิ่งนั้นย่อมดับไปเป็นธรรมดา

  

 เมื่อได้ดวงตาเห็นธรรมจึงขออุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าก็ประทานอุปสมบทให้ ด้วยวิธีที่เรียกว่า เอหิภิกขุอุปสัมปทา โดยกล่าวคำว่า เธอจงเป็นภิกษุมาเกิด พระโกณฑัญญะจึงเป็น พระอริยสงฆ์องค์แรก
            คำว่าธัมมจักกัปปวัตตนสูตร แปลว่าสูตรของการหมุนวงล้อแห่งพระธรรมให้เป็นไปมีความโดยย่อว่า
            ที่สุด 2 อย่างที่บรรพชิตไม่ควรประพฤติปฏิบัติคือ การประกอบตนให้อยู่ในความสุขด้วยกาม ซึ่งเป็นธรรมอันเลวเป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ที่สุดอีกทางหนึ่งคือ การประกอบการทรมานตนให้เกิดความลำบาก ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์
            การดำเนินตามทางสายกลาง ไม่เข้าไปใกล้ที่สุดทั้งสองอย่างนั้น เป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้  ด้วยปัญญาอันยิ่ง ทำดวงตาและญาณให้เกิด เป็นไปเพื่อความสงบระงับ ความรู้ยิ่ง ความตรัสรู้ และนิพพาน ทางสายกลาง ได้แก่ อริยมรรค มีองค์แปด คือ ปัญญาอันเห็นชอบ ดำริห์ชอบ เจรจาชอบ การงานชอบ เลี้ยงชีพชอบ พยายามชอบ ระลึกชอบ  และตั้งใจชอบ  อริยสัจสี่ คือความจริงอันประเสริฐที่พระองค์ค้นพบ มี 4 ประการได้แก่  
               ความทุกข์ ได้แก่ ความเกิด ความแก่ ความตาย ความได้พบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก ความพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก ปรารถนาสิ่งใดแล้วไม่ได้สิ่งนั้น ว่าโดยย่อ  อุปาทานในขันธ์ 5 เป็นทุกข์
               สาเหตุแห่งทุกข์  ได้แก่ ตัณหาความทะยานอยาก อันทำให้เกิดอีกความกำหนัด เพลิดเพลินในอารมณ์ คือกามตัณหา ความทะยานอยากในกาม ภวตัณหา ความทะยานในภพ วิภวตัณหา ความทะยานอยากในความไม่มีภพ 
                       ความดับทุกข์  โดยการดับตัณหาด้วยอริยมรรค คือ วิราคะ สละ ดับ ปล่อยไป ไม่พัวพัน
   
  หนทางปฏิบัติเพื่อดับทุกข์  ได้แก่ อริยมรรคมีองค์  8 คือ ความเห็นชอบ ความดำริชอบ การเจรจาชอบ การกระทำชอบ การเลี้ยงชีพชอบ ความพยายามชอบ การระลึกชอบ และการตั้งจิตมั่นชอบ
                    ดวงตา ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแก่พระองค์ว่า
                    นี้เป็นทุกข์ อันควรกำหนดรู้  และพระองค์ ได้กำหนดรู้แล้ว
                    นี้เป็นสาเหตุแห่งทุกข์ อันควรละ และพระองค์ ได้ละแล้ว
                    นี้เป็นความดับทุกข์ อันควรทำให้แจ้ง  และพระองค์ ได้ทำให้แจ้งแล้ว
                    นี้เป็นหนทางดับทุกข์ อันควรเจริญ  และพระองค์ ได้เจริญแล้ว
            สรุปได้ว่า ปัญญาอันรู้เห็นแจ้งชัดตามความเป็นจริงในอริยสัจ 4   มีรอบ 3   มีอาการ 12   คือ   ขั้นแรก รู้ว่า อริยสัจแต่ละอย่างนั้นเป็นอย่างไร ขั้นที่สองรู้ว่าควรจะทำอย่างไรในอริยสัจแต่ละประการนั้น และขั้นที่ 3 พระองค์ได้ กระทำตามนั้นสำเร็จเสร็จแล้ว
            พระองค์ทรงเน้นว่า จากการที่พระองค์ทรงค้นพบ คือตรัสรู้อริยสัจ 4 ประการนี้ การที่พระองค์ทรงกล้าปฏิญญา   ว่าเป็นผู้ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ เพราะพระองค์ได้รู้เห็นแจ้งชัดตามความเป็นจริง ในอริยสัจ 4 มี รอบ 3 มีอาการ 12 อย่างหมดจดดีแล้ว
            เมื่อพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า  ทรงประกาศพระธรรมจักร ให้เป็นไปแล้ว ได้มีการบันลือต่อ ๆ กันไปให้ทราบทั่วกันว่า พระธรรมอันยอดเยี่ยมที่พระองค์ทรงประกาศให้เป็นไปแล้ว ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เขตเมืองพาราณสี อันใคร ๆ ในโลกจะปฏิวัติไม่ได้
            วันอาสาฬหบูชามีเหตุการณ์สำคัญในทางพระพุทธศาสนาอยู่ 3 ประการคือ
            1.  เป็นวันแรกที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศพระศาสนา โดยทางแสดงพระปฐมเทศนา คือ ธรรมจักกัปปวัตนสูตร   ประกาศสัจธรรมอันเป็นองค์แห่งพระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณที่พระองค์ตรัสรู้ ให้เป็นที่ประจักษ์แก่ สรรพสัตว์ทั้งหลาย
            2. เป็นวันแรกที่บังเกิดพระอริยสงฆ์สาวกขึ้นในโลก คือ พระโกณฑัญญะ เมื่อได้ฟังพระปฐมเทศนาจบ ได้ดวงตาเห็นธรรม ได้ทูลขออุปสมบท และพระพุทธเจ้าได้ประทานอุปสมบทให้ด้วยวิธีเอหิภิกษุอุปสัมปทา ในวันนั้น
            3. เป็นวันแรกที่บังเกิดพระรัตนตรัย คือ พระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตน และพระสังฆรัตนะ ขึ้นในโลกอย่างสมบูรณ์บริบูรณ์
   
           วิธีปฏิบัติ ตนและพิธีกรรมทางศาสนา  

                        
 
     
วันอาสาฬหบูชานี้พุทธศาสนิกชนต่างพากันมาน้อมระลึกถึงพระรัตนตรัย ด้วยการไปชุมนุมตามพระอารามต่าง ๆ เพื่อกระทำการบูชาปูชนียวัตถุได้แก่พระธาตุเจดีย์ หรือพระพุทธปฏิมาที่เป็นพระประธานในพระอุโบสถ อย่างใดอย่างหนึ่ง ด้วยดอกไม้ ธูป เทียน เริ่มด้วยการสรรเสริญคุณพระรัตนตรัย เวียนเทียน และฟังพระธรรมเทศนา เช่นเดียวกับที่ปฏิบัติในวันวิสาขบูชา การแสดงธรรมในวันนี้จะเทศน์ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร วันอาสาฬหบูชาจึงเป็นวันที่พุทธศาสนิกชนจะได้ร่วมกันน้อมระลึกถึงคุณพระรัตนตรัยศึกษา พระธรรมวินัยอันเป็นแก่นแท้ของพระพุทธศาสนาให้เข้าใจอย่างถูกต้องตรงทางแล้วนำไปประพฤติปฏิบัติ เพื่อประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นต่อไปชั่วกาลนาน