วันเสาร์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2554

วันวิทยาศาสตร์


วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ

18 สิงหาคม ของทุกปี


 
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ พระมหากษัตริย์ผู้ทรงพระปรีชาสามารถปรับปรุงสยามประเทศให้เจริญทัดเทียมนานาอารยประเทศ ทรงรับเอาศิลปวิทยาการและความคิดสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้ในการปกครองประเทศ ด้วยเหตุนี้องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) จึงได้ประกาศยกย่องพระเกียรติคุณของพระองค์ให้ทรงเป็นบุคคลสำคัญของโลกด้วยพระราชกรณียกิจและพระเกียรติคุณนานัปการ โดยเฉพาะพระราชกรณียกิจด้านดาราศาสตร์

 เนื่องด้วยพระองค์ทรงสนพระทัยวิชาคณิตศาสตร์และวิชาดาราศาสตร์ในตำราโหราศาสตร์ของไทย ในที่สุดพระองค์ทรงค้นคิดวิธีการคำนวณปักข์ (ครึ่งเดือนทางจันทรคติ) โดยอาศัยหลักตำราสารัมภ์ของมอญ เพื่อประโยชน์ในการกำหนดวันธรรมสวนะ (วันพระ) ให้ถูกต้องตามการโคจรของดวงจันทร์ที่เรียกว่า ปฏิทินปักขคณนา ยิ่งกว่านั้น พระองค์ได้ทรงคิดสูตรสำเร็จในการคำนวณปักข์ออกมาในรูปกระดานไม้สี่เหลี่ยมผืนผ้า มีเครื่องหมายเรียงเป็นแถว ๑๐ แถว แต่ละแถวมีจำนวนต่างกัน และมีเครื่องหมายแทนดวงดาว ๕ ดวง เดินเคลื่อนไหวเหนือแถวเหล่านั้นคล้ายกับเดินตัวหมากรุก ก็จะได้วันพระที่ถูกต้องโดยไม่ต้องเสียเวลาคำนวณ เรียกว่า กระดานปักขคณนา ปัจจุบันนี้คณะธรรมยุตยังคงใช้กันอยู่ สิ่งเหล่านี้น่าจะเป็นสาเหตุที่จุดประกายให้พระองค์ทรงเริ่มสนพระทัยในวิชาดาราศาสตร์อย่างจริงจัง

ในพระราชฐานของพระองค์ทั้งที่กรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัดจะมีหอดูดาว โดยเฉพาะหอชัชวาลเวียงไชยนี้มีความสำคัญมากในประวัติศาสตร์วิชาดาราศาสตร์ของไทย ด้วยมีพระราชประสงค์จะให้เป็นสถานที่สังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ในการรักษาเวลามาตรฐานของประเทศไทยต่อไป ดังนั้นหอนี้จึงเป็นอนุสรณ์แห่งสัมฤทธิผลในทางวิทยาศาสตร์เรื่องระบบเวลา พระองค์ทรงสถาปนาระบบเวลามาตรฐานขึ้นในประเทศไทย เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๕ โดยสร้างพระที่นั่งภูวดลทัศไนยขึ้นในพระบรมราชวัง ใช้เป็นหอนาฬิกาหลวงบอกเวลามาตรฐานของประเทศไทยสมัยนั้น โดยมีพนักงานตำแหน่งพันทิวาทิตย์ เทียบเวลาตอนกลางวันจากดวงอาทิตย์ และพันพินิตจันทรา เทียบเวลาตอนกลางคืนจากดวงจันทร์

นอกจากนี้พระองค์ยังได้ทรงคำนวณเหตุการณ์ล่วงหน้าถึง ๒ ปีว่า วันที่ ๑๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๑๑ จะเกิดเหตุการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงในประเทศไทย ที่ที่จะเห็นเหตุการณ์สุริยุปราคาชัดเจนที่สุดก็คือ หมู่บ้านหัววาฬ ตำบลหว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พระองค์จึงเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรเหตุการณ์สุริยุปราคาที่นั่น และเหตุการณ์ก็เป็นไปตามที่พระองค์ทรงพยากรณ์ทุกประการ ไม่คลาดเคลื่อนแม้แต่วินาทีเดียว ทางสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย โดยเฉพาะทางด้านดาราศาสตร์จึงคิดกันว่า น่าจะถือว่าวันนี้เป็นวันวิทยาศาสตร์ของไทย ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการกำหนดวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติในการประชุม เมื่อวันที่ ๑๔ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๕ เพื่อเทอดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็น "พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย" พร้อมทั้งกำหนดให้วันที่ ๑๘ สิงหาคมของทุกปีเป็น "วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ"

ดังนั้น ในวันที่ ๑๘ สิงหาคมของทุกปี ได้มีการจัดงานวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติขึ้นทั่วประเทศ โดยเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๕ เป็นต้นมา โดยมีกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการพลังงานเป็นหน่วยงานหลักในการจัดร่วมกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทั้งภาครัฐ และเอกชน ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๒๗ งานวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติได้รับการขยายให้เป็นงาน "สัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ" ในงานนี้มีการจัดกิจกรรมทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากมาย เช่น นิทรรศการ ผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ รวมทั้งการแข่งขันโครงการทางวิทยาศาสตร์ และสื่อการสอนวิทยาศาสตร์ นอกจากนี้ยังมีการมอบรางวัลให้แก่ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นในสาขาวิชาต่างๆ อีกด้วย


           


วัตถุประสงค์ของการจัดงานวันสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ

๑. เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติและพระปรีชาสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว"พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย"
๒. เพื่อเป็นการส่งเสริมและเผยแพร่ผลงานการค้นคว้าวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศ
๓. เพื่อสนับสนุนให้กำลังใจและโอกาสแก่นักวิจัย นักประดิษฐ์ ได้แสดงผลงานต่อสาธารณชน
๔. เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่าภาครัฐและเอกชนในการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปใช้ในการพัฒนาประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ
๕. เพื่อเสริมสร้างบรรยากาศทางวิทยาศาสตร์ อันเป็นวิถีทางหนึ่งของการแก้ปัญหาการขาดแคลนกำลังคนทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี




วันเสาร์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2554

วันแม่แห่งชาติ


 


 ประวัติวันแม่

         
แต่เดิมนั้น วันแม่ของชาติได้กำหนดเอาไว้วันที่ 15 เมษายนของทุก ๆ ปี ทั้งนี้เป็นไปตามมติของคณะรัฐมนตรีประกาศรับรอง เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2493 ซึ่งได้พิจารณาเห็นว่าการจัดงานวันแม่ของสำนักวัฒนธรรมฝ่ายหญิง สภาวัฒนธรรมแห่งชาติผู้รับมอบหมายให้จัดงาน วันแม่ มาตั้งแต่วันที่ 15 เมษายน พ.ศ.2493 เป็นครั้งแรกเป็นต้นมานั้นได้รับความสำเร็จด้วยดี ด้วยประชาชนให้การสนับสนุนจนสามารถขยายขอบข่ายของงานให้กว้างขวางออกไป 

          มีการจัดพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา การประกวดคำขวัญวันแม่ การประกวดแม่ของชาติ เพื่อให้เกียรติและตระหนักในความ สำคัญของแม่ และเพื่อเพิ่มความสำคัญของวันแม่ให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป ด้วยเหตุนี้งานวันแม่จึงเป็นวันแม่ประจำปีของชาติตามประกาศของรัฐบาลฯพณฯ จอมพล ป.พิบูลสงคราม แต่โดยทั่วไปเรียกกันว่าวัน แม่ของชาติ 

          ต่อมาถึง พ.ศ.2519 ทางราชการได้เปลี่ยนใหม่ให้ถือเอาวันเสด็จพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ คือ วันที่ 12 สิงหาคม เป็นวันแม่แห่งชาติ เริ่มในปี พ.ศ.2519 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน 


 กิจกรรมต่าง ๆ ที่ควรปฏิบัติในวันแม่แห่งชาติ

         
1. ประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือน

          2. จัดกิจกรรมต่างๆ เกี่ยวกับวันแม่ เช่น การจัดนิทรรศการ  

          3. จัดกิจกรรมเกี่ยวกับการบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ ทำบุญใส่บาตรอุทิศส่วนกุศล เพื่อรำลึกถึงพระคุณของแม่

          4. นำพวงมาลัยดอกมะลิไปกราบขอพรจากแม่
 การจัดงานวันแม่แห่งชาติในประเทศไทย
วันเเม่ 

 

          งานวันแม่จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2486 ณ.สวนอัมพร โดยกระทรวงสาธารณสุข แต่ช่วงนั้นเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 งานวันแม่ในปีต่อมาจึงต้องงดไป เมื่อวิกฤติสงครามสงบลง หลายหน่วยงานได้พยายามให้มีวันแม่ขึ้นมาอีก แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร และมีการเปลี่ยนกำหนดวันแม่ไปหลายครั้ง ต่อมาวันแม่ที่รัฐบาลรับรอง คือวันที่ 15 เมษายน โดยเริ่มจัดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2493 แต่ก็ต้องหยุดลงอีกในหลายปีต่อมา เนื่องจากกระทรวงวัฒนธรรมถูกยุบไป ส่งผลให้สภาวัฒนธรรมแห่งชาติซึ่งรับหน้าที่จัดงานวันแม่ขาดผู้สนับสนุน

          ต่อมาสมาคมครูคาทอลิกแห่งประเทศไทย ได้จัดงานวันแม่ขึ้นอีกครั้ง ในวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2515 แต่จัดได้เพียงปีเดียวเท่านั้น จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2519 คณะกรรมการอำนวยการสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จึงได้กำหนดวันแม่ขึ้นใหม่ให้เป็นวันที่แน่นอน โดยถือเอาวันเสด็จพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ วันที่ 12 สิงหาคมเป็นวันแม่แห่งชาติ
 สัญลักษณ์ที่ใช้ในวันแม่  
  

         
สัญลักษณ์ที่ใช้ในวันแม่คือ ดอกมะลิ ซึ่งมีสีขาวบริสุทธิ์ ส่งกลิ่นหอมไปไกลและหอมได้นาน อีกทั้งยังออกดอกได้ตลอดทั้งปี เปรียบได้กับความรักอันบริสุทธิ์ของแม่ที่มีต่อลูกไม่มีวันเสื่อมคลาย


 เพลงที่ใช้ในวันเเม่

         
ค่าน้ำนม คือ เพลงอย่างเป็นทางการที่ใช้ในงานวันเเม่เเห่งชาติ เเต่งขึ้นโดย อาจารย์ สมยศ ทัศนพันธ์ ได้เรียบเรียงบทเพลงที่เรียกได้ว่า ขึ้นหิ้งอมตะ และเป็นงานเพลงชิ้นเอก ซึ่งได้ฟังเมื่อไร เป็นต้องหวนระลึกถึงบุญคุณของเเม่เเละวันคืนเก่าๆ ของวิถีไทยในสมัยก่อน

          เนื้อเพลง นอกจากจะให้เราระลึกถึงพระคุณเเม่เเล้วยังทำให้เรามองเห็นขนบดั้งเดิมตามวิถีไทย หลายอย่างจากเนื้อเพลง เช่นการศึกษาของผู้ชายไทยสมัยก่อนนั้น มักจะอยู่ในวัดวาอาราม ซึ่งเป็นแหล่งสอนสั่งความรู้ ทางโลก อ่านออกเขียนได้ และ ทางธรรม อันได้แก่ การถือศีล และยิดมั่นในพระรัตนไตร นอกจากนั้น ยังมีความเชื่อกันอีกว่า หากลูกชายบ้านใหน ได้บวชเรียน ก็จะส่งแผ่ อานิสงค์ไปให้กับพ่อแม่ ได้เกาะชายผ้าเหลืองไปสู่ที่ดีๆ เมื่อถึงกาลแตกดับ

         
ท่วงทำนองเสนาะโสต และ ทุ่มเย็น กับคำร้องที่ตรงไป ตรงมา ชวนให้นึกภาพตามได้ไม่ยาก แม้แต่เด็กเล็กๆ จึงไม่ใช่เรื่องแปลก ที่ใครฟังเพลงนี้แล้วจะต้องหลั่งน้ำตาให้กับความซาบซึ้งแห่งรักที่แม่ มีให้เรา...

          เพลง ค่าน้ำนม

         
แม่นี้มีบุญคุณอันใหญ่หลวง ที่เฝ้าหวงห่วงลูกแต่หลังเมื่อยังนอนเปล แม่เราเฝ้าโอละเห่ กล่อมลูกน้อยนอนเปลไม่ห่างหันเหไปจนไกล

          แต่เล็กจนโตโอ้แม่ถนอม แม่ผ่ายผอมย่อมเกิดแต่รักลูกปักดวงใจ เติบโตโอ้เล็กจนใหญ่ นี่แหละหนาอะไรมิใช่ใดหนาเพราะค่าน้ำนม 

          ควรคิดพินิจให้ดี ค่าน้ำนมแม่นี้จะมีอะไรเหมาะสม โอ้ว่าแม่จ๋าลูกคิดถึงค่าน้ำนม เลือดในอกผสมกลั่นเป็นน้ำนมให้ลูกดื่มกิน 

          ค่าน้ำนมควรชวนให้ลูกฝัง แต่เมื่อหลังเปรียบดังผืนฟ้าหนักกว่าแผ่นดิน บวชเรียนพากเพียรจนสิ้น หยดหนึ่งน้ำนมกินทดแทนไม่สิ้นพระคุณแม่เอย
( ซ้ำ *, ** )

วันสตรีไทย


 

ความเป็นมาของวันสตรีไทยก่อเกิดจากแนวความคิดที่ว่า ในเดือนสิงหาคมเป็นเดือน แห่ง มหามงคลสมัย ที่ปวงชนชาวไทยพร้อมใจกันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในวันที่ 12 สิงหาคม ประดุจแม่ของแผ่นดิน และทางราชการได้กำหนด เป็นวันแม่แห่งชาติ องค์กรสตรีไทยทั่วประเทศได้หารือกันทั้งภาครัฐและเอกชน มีความประสงค์
ร่วมกันกำหนดให้มีวันสตรีไทยขึ้น ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจที่สตรีไทย ได้มีโอกาสร่วมกัน กำหนด วันของตนเอง เป็นการผลักดันกระบวนทัศน์ ความคิด ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะสตรีไทย และภูมิปัญญา ที่เป็นของตนเองให้ผนึกกันก้าวไปในแนวทางที่สอดคล้องกับนโยบายภาครัฐ เพื่อยกระดับ สถานภาพชีวิตของสตรีไทย และร่วมกันพัฒนาเพื่อความเจริญก้าวหน้า ของประเทศ ทุกองค์กร จึงกำหนดวันสตรีไทยขึ้น และได้รับพระมหากรุณาธิคุณอันล้นเกล้า จากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์
พระบรมราชินีนาถ พระราชทานกำหนดให้วันที่ 1 สิงหาคมของทุกปี เป็นวันสตรีไทย ตั้งแต่พุทธศักราช 2546 เป็นต้นไป
          สำหรับแนวทางการจัดกิจกรรมในส่วนกลาง กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ร่วมกับหน่วยงาน   ภาคเอกชน จัดงานวันสตรีไทย ผนวกรวมกับการจัดงานสุดยอดหมู่บ้านอุตสาหกรรมและทอผ้าไทย ครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 30 กรกฎาคม - 8 สิงหาคม 2547 ณ ศูนย์แสดงสินค้านานาชาติ อิมเพ็ค เมืองทองธานี กิจกรรมสำคัญก์คือ การมอบรางวัลสตรีดีเด่น สื่อโฆษณาดีเด่น ส่งเสริมบทบาทแม่ การสัมมนาทางวิชาการ การจัดนิทรรศการ มหกรรมอาหารไทย ศิลปวัฒนธรรม 4 ภาค เป็นต้น
          ในส่วนภูมิภาค จัดกิจกรรมเชิดชูเกียรติสตรีไทยหัวใจแกร่ง ขอความร่วมมือทุกจังหวัด โดยสำนักงานพัฒนาสังคม และ สวัสดิการจังหวัด ร่วมกับองค์กรสตรีระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล องค์กรปกครองท้องถิ่น ร่วมกันคัดเลือกสตรีที่เป็นผู้นำครอบครัว เนื่องจากสามีเสียชีวิต หย่าร้าง หรือถูกทอดทิ้ง ให้ดูแลครอบครัวตามลำพัง ประกอบอาชีพสุจริต ครอบครัวยากจน มีความอดทน มีมานะอุตสาหะ จังหวัดละ 5 ราย มอบเงินทุนประกอบอาชีพ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่สตรีผู้นำ ครอบครัวที่ยากจน โดยขอรับเงิน สนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาสังคม และสวัสดิการจังหวัด หรือเหล่ากาชาดจังหวัด ฯลฯ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล แด่สมเด็จ พระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในวโรกาส พระชนมายุครบ 72 พรรษา
  
พระราชดำรัส
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
ในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์
ทรงเปิดงานโครงการรวมพลังสตรีไทย เทิดไท้องค์ราชินี และพระราชทานวันสตรีไทย
ณ อาคารใหม่สวนอัมพร พระราชวังดุสิต
วันศุกร์ที่ 1 สิงหาคม 2546
          "สตรีไทยในยุคปัจจุบัน มีความคิดที่ก้าวหน้า และทันสมัยมากขึ้น จึงมีส่วนร่วมอย่างสำคัญ ในการพัฒนาประเทศ การสั่งสม ภูมิปัญญาของสตรีไทย   ที่สืบเนื่องกันมานับแต่โบราณกาลจวบจนปัจจุบัน   ได้ก่อให้เกิดเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอันเป็น ความ ภาคภูมิใจยิ่งของชาวไทย และการที่จะธำรงความภาคภูมิใจนี้ไว้ให้ยั่งยืน ย่อมเป็นหน้าที่ของสตรีไทยทุกคน ที่จะต้องช่วยกันรักษา และเชิดชูเอกลักษณ์ ทางวัฒนธรรมของชาติ ตลอดจนภูมิปัญญาท้องถิ่น ให้สืบทอดไปยังอนุชนรุ่นต่อไปโดยไม่ขาดสาย

          เนื่องในโอกาสที่วันนี้เป็นวันสตรีไทย ข้าพเจ้าจึงของฝากความคิดเห็นว่า สตรีไทยมีหน้าที่สำคัญเบื้องต้น 4 ประการ คือ
          ประการแรก พึงทำหน้าที่ "แม่" ให้สมบูรณ์ โดยทำให้ครอบครัวบังเกิดความรัก และความอบอุ่น มีความเข้าใจและไว้วางใจ ซึ่กงันและกัน แม่ควรเป็นที่ยึดมั่นของลูก เมื่อลูกเกิดปัญหาก็ช่วยแก้ไขด้วยความเมตตา และสอนให้รู้จักดำเนินชีวิตในทางที่ถูกที่ควร ถ้าสตรีไทยทำเช่นนี้ได้ เด็กไทยก็จะเติบโตเป็นพลเมืองดี และช่วยป้องกันปัญหาร้ายแรงต่าง ๆ ในสังคมไทย

          ประการที่สอง พึงทำหน้าที่ของ "แม่บ้าน" ให้ดีโดยทำให้บ้านมีความน่าอยู่ เป็นที่พักพิงอันอบอุ่น ของสมาชิกในครอบครัว ช่วยเก็บออมและเพิ่มพูนทรัพย์สินให้ครอบครัว รวมทั้งให้ความช่วยเหลือแก่ชุมชนรอบข้างตามสมควร

          ประการที่สาม พึง "รักษาเอกลักษณ์ของความเป็นสตรีไทย" ผู้มีความนุ่มนวล อ่อนโยน สุภาพ เมตตา และยิ้มแย้มแจ่มใส
รวมทั้งธำรงรักษาศิลปวัฒนธรรมไทยอันละเอียดประณีตให้เป็นที่ชื่นชมของนานาชาติตลอดไป

          ประการที่สี่ พึง "ฝึกฝนตนเอง" ให้มีความรู้ความสามารถยิ่งขึ้น ขยัน และอดทน มีความประยัด ซื่อสัตย์ มีวินัย และรักษา ความสามัคคี ในหมู่คณะไว้ให้มั่นคง

          หากสตรีไทยทุกคนตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ ทั้ง 4 ประการ นี้ได้ ก็จะส่งผลให้ครอบครัวไทย สังคมไทย และประเทศชาติมีความสุข ความเจริญ นำไปสู่การพัฒนาด้านอื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง และสตรีไทยจักเป็นที่ยกย่อง ชื่นชมของสังคมโลกตลอดไป"


   http://gender.dip.go.th/%E0%B8%A7%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2/tabid/66/Default.aspx