วันอาทิตย์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2554

วันเยาวชนแห่งชาติ



 

20 กันยายน ของทุกปี

            วันเยาวชนเเห่งชาติ เริ่มมีขึ้นในประเทศไทยเมื่อสหประชาชาติกำหนดให้ปี พ.ศ. 2528 เป็นปีเยาวชนสากล คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2528 กำหนดให้วันที่ 20 กันยายน ของทุกปี เป็นวันเยาวชนเเห่งชาติ เนื่องจากวันดังกล่าวเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีสองพระองค์ ซึ่งเสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติในฐานะยุวกษัตริย์ คือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เเละพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 

ความหมายคำว่าเยาวชน

  พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ได้ให้ความหมายของคำว่า "เยาวชน" ไว้ดังนี้ (ราชบัณฑิตยสถาน พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 หน้า 673)
         เยาวชน หมายถึง บุคคลที่มีอายุเกิน 14 ปีบริบูรณ์ แต่ยังไม่ถึง 18 ปีบริบูรณ์ และไม่ใช่ เป็นผู้บรรลุนิติภาวะแล้วด้วยการสมรส
         องค์การสหประชาชาติ (สุภักดิ์ อนุกูล วันสำคัญของไทย, หน้า 82) ได้ให้ความหมายสากลของคำว่า “เยาวชน” หมายถึง คนในวัยหนุ่มสาว คือ ผู้มีอายุระหว่าง 15 - 25 ปี
         เยาวชน เป็นกลุ่มคนที่มีพลังอันสำคัญที่สามารถช่วยกันเสริมสร้างกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศชาติในอนาคต เยาวชนควรตระหนักในคุณค่าของตนเองที่ร่วมแรงร่วมใจ สามัคคี และเสียสละส่วนตนเพื่อประโยชน์ส่วนรวม มีคุณธรรม จริยธรรม และสติปัญญาอันชาญฉลาด ในการสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามแก่สังคม และนำพาประเทศชาติสู่ความเจริญรุ่งเรือง 


 ความเป็นมาของวันเยาวชนแห่งชาติ

ภาพ:Foryou_3.jpg

         สืบเนื่องมาจากคำประกาศขององค์การสหประชาชาติ กำหนดให้ปีพุทธศักราช 2528 เป็นปีเยาวชนสากล และขอให้ประเทศสมาชิกร่วมเฉลิมฉลองปีเยาวชนสากลภายใต้คำขวัญ “Participation Development and Peace”
         สำหรับประเทศไทย คณะรัฐมนตรี ได้มีมติเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2528 กำหนดให้วันที่ 20 กันยายนของทุกปี เป็นวันเยาวชนแห่งชาติ โดยถือว่าเป็นวันที่เป็นสิริมงคลอย่างหนึ่ง เนื่องจากเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระมหากษัตริย์ในพระบรมราชจักรีวงศ์สองพระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ซึ่งทั้งสองพระองค์ได้เสด็จขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติในขณะที่ยังทรงพระเยาว์ จึงถือได้ว่าเป็นวันสิริมงคลที่เยวชนควรสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของล้นเกล้าทั้งสองพระองค์ เยาวชนึงควรกระตือรือล้นในการพัฒนาตนเองและประพฤติตนให้เป็นประโยชน์ต่อชุมชน สังคม และประเทศชาติเฉกเช่นยุวกษัตริย์ทั้งสองพระองค์
         เรามีวันเด็กแห่งชาติโดยถือวันเสาร์ที่สองของเดือนมกราคมของทุกปี แต่ที่มุ่งเป็นเยาวชนโดยเริ่มในปีเยาวชนสากลนั้น เนื่องจากความหมายสากลของเยาวชน หมายถึงคนในวัยหนุ่มสาว คือ ผู้มีอายุระหว่าง 15 - 25 ปี ในขณะที่เด็กมักจะหมายถึงผู้มีอายุต่ำกว่า 14 ปี
         ในประเทศไทยจากการสำรวจมีเยาวชนจำนวนถึง 11 ล้านคนเศษ และจำนวนนี้จะเพิ่มมากขึ้นในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 6 และต่อเนื่องไปถึงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 7 คาดว่าจะมีจำนวนกว่า 13 ล้านคน ในช่วงเวลานี้ จากนั้นจำนวนจะค่อย ๆ ลดลง
         นับแต่ปี พ.ศ. 2528 เป็นต้นไป เยาวชนของชาติจะได้รับการส่งเสริมและพัฒนาให้สามารถมีส่วนร่วมในการพัฒนาตนเอง พัฒนาชุมชน และพัฒนาประเทศได้อย่างต่อเนื่อง ยิ่งกว่านั้นเยาวชนจำนวน 11 ล้านคนซึ่งกระจายอยู่ทั่วประเทศ ควรได้ตระหนักว่า เยาวชนจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมรับผิดชอบในการพัฒนาชาติให้มีความมั่นคงและเจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้น ซึ่งเยาวชนสามารถกระทำได้โดยการพัฒนาตนเองให้เป็นผู้มีค่านิยมที่ถูกต้อง อาทิ นิยมใช้สินค้าไทย ภูมิใจและหวงแหนปรารถนาที่จะอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทย รู้จักประหยัดและมีวินัย รวมทั้ง พร้อมที่จะบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมและชาติ ตลอดจนยึดมั่นในการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข แต่การพัฒนาไปตามลำพังนั้นเป็นการพัฒนาเพียงส่วนเดียวย่อมได้ประโยชน์ไม่สมบูรณ์ ด้วยเหตุนี้เยาวชนทุกคนจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมในทุกรูปแบบด้วยจึงจะสามารถพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าได้อย่างเต็มที่
         ส่วนสำคัญมากอีกส่วนหนึ่งในการพัฒนาเยาวชน คือ ภาคเอกชน ธุรกิจเอกชน ควรได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเยาวชนของชาติให้มากยิ่งขึ้น การให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการพัฒนาเยาวชนไปฝ่ายเดียว คงไม่สามารถพัฒนาเยาวชนให้เป็นผู้ที่มีคุณภาพและคุณธรรมได้ทั้งหมด ด้วยเหตุนี้หากธุรกิจเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเยาวชน ในด้านการฝึกอาชีพต่าง ๆ ซึ่งธุรกิจเอกชนนั้นดำเนินการอยู่ ก็จะสามารถช่วยให้เยาวชนมีความสามารถในการประกอบอาชีพเพิ่มขึ้น มีงานทำและมีรายได้
         อย่างไรก็ตาม อีกสถาบันหนึ่งที่มีความสำคัญมากเช่นกัน ได้แก่ สถาบันครอบครัว ถ้าพ่อแม่ผู้ปกครองมีความเข้าใจ เอาใจใส่ทะนุถนอมให้ความรักและความอบอุ่นแก่เยาวชนที่อยู่ในความปกครองอย่างถูกต้องแล้วก็จะสามารถช่วยให้เยาวชนเป็นบุคคลที่มีคุณภาพและคุณธรรมได้อย่างแน่นอน

คำขวัญวันเยาวชนแห่งชาติ

         องค์การสหประชาชาติได้ประกาศให้ปี 2528 เป็นปีเยาวชนสากล โดยใช้คำขวัญ “Participation, Development and Peace” ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบให้วันที่ 20 กันยายนของทุกปี เป็นวันเยาวชนแห่งชาติ และมอบคำขวัญที่ถอดความเป็นภาษาไทยว่า “ร่วมแรงแข็งขัน ช่วยกันพัฒนา ใฝ่หาสันติ” ซึ่งมีความหมายละเอียดลึกซึ้งต่อเยาวชนทุกคน สามารถยึดถือและนำไปปฏิบัติดังนี้
         ร่วมแรงแข็งขัน (participation) หมายถึง การยอมรับในศักยภาพของแต่ละบุคคล ที่จะสามารถวินิจฉัยและตัดสินใจในเรื่องที่เกี่ยวกับตนเอง และตระหนักว่าตนมีโอกาส ได้ใช้โอกาสและพึงพอใจที่ได้ใช้โอกาสด้วยตนเองอย่างเกิดคุณค่าโดยไม่ตกเป็นเครื่องมือของผู้ใด การที่เยาวชนสามารถมีส่วนร่วมและมีบทบาทต่อชาติบ้านเมืองได้อย่างเต็มที่นั้น เป็นความสำเร็จของสังคมและประเทศชาติที่สำคัญ
         ช่วยกันพัฒนา (development) การพัฒนานั้นมองได้ 2 มิติ มิติหนึ่งคือ การพัฒนาตนเองของแต่ละบุคคล และอีกมินิหนึ่งคือ การพัฒนาสังคมและประเทศชาติ หากบุคคลพัฒนาตนเองได้ดีก็จะเป็นกำลังสำคัญ และอีกมิติหนึ่งคือการพัฒนาสังคมและประเทศชาติ หากบุคคลพัฒนาตนเองได้ดีก็จะเป็นกำลังสำคัญและมีคุณค่าต่อการพัฒนาสังคมและประเทศชาติ ขณะเดียวกัน การพัฒนาสังคมและประเทศชาติก็จะเป็นพลังขับเคลื่อนการพัฒนาของบุคคลด้วยกระบวนการพัฒนา 2 ส่วนนี้ จึงมีความต่อเนื่อง สัมพันธ์กัน และในสภาวะปัจจุบัน ความร่วมมือในระดับนานาชาติ จะมีผลอย่างสำคัญยิ่งต่อความก้าวหน้าในการพัฒนาประเทศ
         ใฝ่หาสันติ (peace) สันติภาพเป็นหลักการพื้นฐานของชีวิต ความต้องการสันติภาพ เป็นความต้องการของสากลโลก ซึ่งทุกคนต้องรับผิดชอบร่วมกันเพื่อให้เกิดสันติภาพและดำรงคงไว้ คนหนุ่มสาวจึงต้องร่วมมือกันในเรื่องนี้ ผลักดันให้เกิดมาตรการที่จะสร้างความเชื่อมั่นในวิถีการพัฒนาด้วยสันติ และสร้างสำนึกสันติภาพ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปลูกฝังสั่งสอนเยาวชนให้รู้จักเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และสิทธิมนุษยชน มีความอดกลั้น ความเป็นประชาธิปไตย และเสรีภาพพื้นฐาน

 

 เครื่องหมายเยาวชนแห่งชาติ

ภาพ:Foryou_2.jpg

         ความเป็นมาของเครื่องหมายเยาวชนแห่งชาติ
         ในปี พ.ศ.2517 สำนักเยาวชนแห่งชาติ ได้เสนอต่อคณะกรรมการบริหารและประสานงานเยาวชนแห่งชาติว่า เพื่อประสิทธิภาพและความมั่นคงในการดำเนินงานเยาวชนแห่งชาติ สมควรที่ขอรับพระราชทานเครื่องหมายเยาวชนแห่งชาติ” เพื่อเป็นสัญลักษณ์ผูกพันพลังน้ำใจ และเป็นเครื่องยึดมั่นสักการบูชาร่วมกันของบรรดาเยาวชน กลุ่มเยาวชน และหน่วยงานที่ทำงานเกี่ยวกับเยาวชน จึงได้เสนอขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อนำความกราบบังคมทูลทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท ซึ่งสำนักพระราชเลขาธิการได้นำความกาบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท แล้ไม่ทรงขัดข้อง จึงมีพระบรมราชานุญาตให้นำพระมหาพิชัยมงกุฎประดับบนส่วนยอดเครื่องหมายเยวชนแห่งชาติ

         ความหมายเครื่องหมายเยาวชนแห่งชาติ

         เครื่องหมายเยาวชนนี้ได้รับพระราชทาน และพระบรมราชานุญาตให้ใช้พระมหาพิชัยมงกุฎบนส่วนยอดของเครื่องหมาย เพื่อเป็นมิ่งขวัญ กำลังใจ และศิริมงคลแก่ชีวิตของเยาวชน รูปลักษณะของเครื่องหมายนี้เป็นรูปโล่สีธงชาติ มีอักษรคำว่า “เยาวชน” สีขาวอยู่ในวงกลมพื้นสีเขียว เบื้องบนเป็นรูปพระมหาพิชัยมงกุฎ มีรัศมีอุณาโลม เบื้องล่างมีอักษรสีแดงว่า พลังพัฒนาชาติ รองรับด้วยรวงข้าว 9 รวง แยกอยู่ทางด้านขวา 5 รวง ด้านซ้าย 4 รวง ซึ่งสัญลักษณ์ต่างๆ เหล่านี้อธิบายได้ดังนี้คือ
         1. พระมหาพิชัยมงกุฎ เป็นเครื่องหมายแทนองค์พระมหากษัตริย์ องค์ประมุขสูงสุดของประเทศ ซึ่งเป็นที่เคารพ สักการะ และเป็นจุดรวมน้ำใจของคนทั้งประเทศ
         2. รัศมีที่พระมหาพิชัยมงกุฎ หมายถึง พระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งหมายความว่า เยาวชนไทยนั้นอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือได้รับพระบารมีปกเกล้าฯ
         3. อุณาโลม หมายถึง หว่างพระขนงของพระพุทธเจ้า ใช้เป็นเครื่องหมายแทนศาสนา
         4. อักษรเยาวชนสีขาวในพื้นวงกลมสีเขียวรูปโล่สีธงชาติ หมายถึง พลังอันบริสุทธิ์แห่งความสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของเยาวชนไทย อันจะนำไปสู่ความสำเร็จ การเปลี่ยนแปลง และการพัฒนาการกสิกรรม อันเป็นพื้นฐานทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
         5. รวงข้าวทั้ง 9 รวง มีความหมายถึง เป้าหมายในการพัฒนาเยาวชนทั้ง 9 ประการ ตามนโยบายเยาวชนแห่งชาติ โดยที่รวงข้าวหมายถึง ความเติบโตงอกงาม ฉะนั้น คุณลักษณะ 9 ประการที่จะปลูกฝังให้เกิดขึ้นในตัวเยาวชน จึงเปรียบเสมือนคุณสมบัติที่จะงอดงามขึ้นตามตัวเยาวชน
         6. อักษรว่า พลัง พัฒนาชาติ เป็นคำขวัญ เพื่อเตือนใจเยาวชนให้ตระหนักว่า พวกเขานั้นมีพลังบริสุทธิ์อันหนักแน่น จริงจัง ที่สามารถใช้ประโยชน์ได้มากในการช่วยพัฒนาประเทศชาติ

 คุณสมบัติเด็กและเยาวชนที่พึ่งประสงค์ 6 ประการ

         1. มีความผูกพันในครอบครัว ภาคภูมิใจในความเป็นไทย มีทักษะในอาชีพและการดำรงชีวิตที่รู้จักเคารพสิทธิของผู้อื่น
         2. มีสุขภาพและพลานามัยแข็งแรงและรู้จักการป้องกันตนเองจากโรคและสิ่งเสพติด
         3. มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ จริยธรรม คุณธรรม และมีพฤติกรรมด้านความรับผิดชอบตามวัย
         4. มีเจตคติที่ดีต่อการทำงาน มีศักดิ์ศรีและความภูมิใจในการทำงานสุจริต
         5. รู้จักคิดอย่างมีเหตุผลรอบด้าน และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง
         6. รู้จักช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสและมีส่วนร่วมเพื่อการพัฒนาชุมชนและประเทศชาติ

เป้าหมายของวันเยาวชน

         เป้าหมายของวันเยาวชนที่สำคัญมี 3 ประการคือ
         1. เพื่อให้เยาวชนช่วงอายุ 15-25 ปี ได้ตระหนักถึงความสำคัญ ในการพัฒนาตนเองพัฒนาชุมชน พัฒนาประเทศ
         2. เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้ตระหนักถึงความสำคัญของ การพัฒนาเยาวชนให้เป็นทรัพยาการบุคคลที่มีความสำคัญต่อประเทศชาติ ทั้งในด้านคุณภาพ และคุณธรรม
         3. เพื่อให้นโยบายส่งเสริม และพัฒนาเยาวชนดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง สัมฤทธิ์ผล

 กิจกรรมวันเยาวชนแห่งชาติ

        ในวันเยาวชนแห่งชาติ หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้มีการจัดกิจกรรมต่างๆ ขึ้น เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เยาวชนได้ตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ของตนทั้งในด้านเศรษฐกิจ และวัฒนธรรม เช่น กิจกรรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การรักษาความสะอาดของที่อยู่อาศัยและชุมชน การบำเพ็ญประโยชน์และสังคมสงเคราะห์ เป็นต้น วันเยาวชนแห่งชาติ จึงนับว่ามีส่วนช่วยกระตุ้นให้เยาวชนได้ค้นพบบทบาทและความสำคัญของตนเองที่มีต่อชุมชนและสังคม อันจะเป็นแนวทางในการพัฒนาสังคม และประเทศชาติให้มีความเจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น อักษรดอทคอม สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยามคำแหง

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
-
-
- สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์
- วิกิพีเดีย

2 ความคิดเห็น: